ทรายนำเข้าใครได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการท่าทราย วอนหน่วยงานรัฐเข้าตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ชาติ
ปัญหาทรายนำเข้าใครได้ประโยชน์ มีผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 ราย 1 ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนให้เป็นสื่อกลาง สื่อถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบกรณีเกี่ยวกับผู้ประกอบการท่าทรายนำเข้าเชื่อว่าทำผิดกฎหมาย ขอให้ตรวจสอบอย่างจริงจังให้เกิดความชัดเจน เพื่อประโยชน์ชาติ
วันที่ 6 ก.พ.67 จังหวัดหนองคาย เกิดมีคำถาม จาก ปชช.และผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 บางราย ถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบหลายครั้งแต่ยังไม่เกิดความชัดเจน และมีมาตรฐานการประกอบการของธุรกิจดูดหิน ทราย หลังจาก ศุลกากรหนองคาย ได้ประชุมแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาให้มี การนำเข้าหิน กรวด ทรายแม่น้ำโขง จาก สปป.ลาว เมื่อ 13 ม.ค.64 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย และเกิดปัญหาการร้องเรียนเรื่อยมา ซึ่งผู้ประกอบการท่าทรายในพื้นที่ชายแดน จังหวัดหนองคาย มี 2 ประเภท คือผู้ประกอบการตามมาตรา 9 ดูดในพื้นที่ไทย และประเภทที่ 2 ขออนุญาตดูดหิน ทราย นำเข้า จาก สปป.ลาว
ปัจจุบัน (6 ก.พ.67) การดูดทรายตามลำแม่น้ำโขงและการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว จังหวัดหนองคาย มีผู้ประกอบการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว เป็นการนำเข้านอกทางอนุมัติตาม มาตรา 84 วรรค 2 จำนวน 2 ราย คือ อ.โพนพิสัย และ อ.สังคม ผู้ประกอบการดูดทรายตาม มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 10 ราย ที่สามารถเปิดทำการได้ตามกฎหมาย และอีกจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำการได้ และปิดตัวลง อาจหมดไปในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากจังหวัดหนองคาย มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงในการประชุมไทย-ลาว ที่เมืองพัทยา ปี พ.ศ.2551 การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ข้อตกลง ทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง โดยให้พื้นที่ดูดทรายต้องมีระยะห่างจากสะพาน เขื่อนป้องกันตลิ่ง ท่าเรือ โรงพยาบาล โรงแรม สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร และอยู่ห่างจากบ้าน ศาสนสถาน และโรงเรียน ไม่น้อยกว่า 500 เมตร
ซึ่งผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 ราย 1 ไม่เห็นด้วยและไม่จำเป็นที่ต้องนำทรายเข้ามาจาก สปป.ลาว เนื่องจากประเทศไทยมีทรายเป็นจำนวนมาก อาจสร้างความเสียหายระดับประเทศได้ จริงแล้วต้องไปแก้ข้อตกลงทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ในการประชุมไทย-ลาว ที่เมืองพัทยา ปี พ.ศ.2551 ให้ผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตาม มาตรา 9 สามารถดูดทรายได้ ทรายจะไม่ขาดแคลนและราคาถูกกว่าทรายนำเข้า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 67 (เวลา10.30 น.) ที่ผ่านมา นายอภิเดช หาญธรรม ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาหนองคาย ,เจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคาย และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมตรวจท่าทราย แห่งหนึ่งพื้นที่ บ้านปากโสม หมู่ที่ 2 ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย หลังได้มีผู้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ว่าทรายที่นำเข้าจาก สปป.ลาว ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจาก สปป.ลาว ฝั่งตรงข้ามไม่ปรากฏมีท่าทราย คงพบมีแต่ดอน/สันทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง ส่วนทรายที่ขุดลอกร่องน้ำทำทางเดินเรือ เชื่อว่าไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความถูกต้องและชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบการรายอื่น
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 (เวลาประมาณ 10.30 น.) ที่ผ่านมา นายอภิเดช หาญธรรม ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาหนองคาย ,ฉก.ทพ.2110 ฉก.ทพ.21 ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน ในการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน และสื่อมวลชน ได้ร่วมตรวจในครั้งนั้น และมาตรวจซ้ำในครั้งนี้
จากการตรวจสอบครั้งนี้ (30 ม.ค.67) ได้มีผู้ประกอบการฯ ได้นำเจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าวเดินดูพื้นที่ ก็พบมีกองทรายจำนวนหนึ่งกองอยู่บริเวณบนฝั่งแม่น้ำโขง โดยได้ปักป้ายที่ 1 มีข้อความ ว่า “กองวัสดุขุดร่องน้ำทางเดินเรือ” และป้ายที่ 2 มีข้อความว่า “ กองวัสดุทรายนำเข้า” ไว้หน้ากองทราย และพบรถแม็คโฮ จำนวน 3 คัน และรถตัก 1 คัน รถบรรทุก 10 ล้อ 2 คัน จอดอยู่ในบริเวณ เรือเปล่าสำหรับบรรทุกทราย 1 ลำ จอดอยู่ริมฝั่ง และเรือดูดทราย (ขุดร่องน้ำทำทางเดินเรือ ) จำนวน 2 ลำ จอดอยู่กลางแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศไทย ห่างฝั่งประมาณ 120 เมตร เพื่อสำหรับดูด/ขุดทรายร่องน้ำทางเดินเรือ เพื่อนำเรือออกไปบรรทุกทรายจากฝั่ง สปป.ลาว แล้วนำกลับเข้ามาฝั่งไทย
นายอภิเดช หาญธรรม ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาหนองคาย กล่าวว่า จังหวัดหนองคาย ได้มีการอนุญาตตามมาตรา 9 ประมาณ 10 ที่ ส่วนการขุดลอกหน้าเทียบเรือมี 1 ที่ คือที่ อำเภอสังคม ซึ่งการอนุญาตขุดลอกเป็นไปตาม ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้ขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ พ.ศ. 2556 ตัวขุดลอกจะต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและกฎหมาย การอนุญาตแต่ละครั้งไม่เกิน 6 เดือน สำหรับทรายที่บริเวณหน้าท่าเทียบเรือ ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้นำทรายมากองไว้ใกล้บริเวณขุดลอก ห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามนำทรายออกนอกพื้นที่และห้ามจำหน่าย เว้นนำไปใช้ในสาธารณะประโยชน์ เช่น โรงเรียน วัด ผู้ประกอบการฯ ต้องจดคิว มีหนังสือขอรับบริจาคให้ชัดเจน ถ้าเป็นการจำหน่ายทรายที่ขุดลอก เมื่อตรวจสอบปริมาณทรายไม่สอดคล้องไม่ถูกต้องตามที่แจ้งไว้ ก็เป็นการทำผิดตามระเบียบ สำหรับ การขออนุญาตนำทรายเข้านั้น เป็นตามระเบียบพิธีการศุลกากร ส่วนการนำเรือเข้า -ออก ทั้งเรือที่ดูดทรายและขุดทรายที่จะนำเข้าจาก สปป.ลาว จะต้องแจ้งทางเจ้าท่า ทราบ ทุกครั้ง
ด้าน จนท.ศุลกากร หนองคาย กล่าวว่า การมาตรวจครั้งนี้มาตรวจประจำโดยหน้าที่ ดูการประกอบกิจการซึ่งจะมีการจัดเวรในการมาตรวจ ซึ่งวันนี้ได้มาตรวจดูการทำงานว่าได้ประกอบกิจการเรื่องทำทรายที่ทำการดูดทรายนี้เป็นหลักเพราะเป็นทรายนำเข้าศุลกากรจึงมาตรวจเนื่องจาก ศุลกากร ทำเรื่องนำเข้าส่งออกอยู่แล้ว การมาตรวจครั้งนี้ ถือว่าเรียบร้อยดี
ส่วนผู้ประกอบการท่าทราย/นำเข้า กล่าวว่า เรายืนยันว่าท่าทรายของเราทำถูกต้องทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การขุดทรายตรงนี้คือจะมีการนำเข้าและมีการขุดลอก การนำเข้าคือ นำเข้ามาจาก ประเทศลาว การขุดลอกคือวันที่เราไม่ได้ทำนำเข้า ทำการขุดลอกเพื่อเปิดทางเดินเรือ ทรายที่ได้มาจากการขุดลอก เราก็จะนำมากองไว้ คือเป็นกองวัสดุขุดร่องทางเดินเรือ เรากองเอาไว้เพื่อที่ใครต้องการทรายบริจาค หรือทำสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ สามารถนำรถเข้ามารับได้ ส่วนทรายที่นำเข้าเรากองแยกไว้ต่างหาก เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า
สำหรับ ผู้ประกอบการสัมปทานบ่อทราย ตามมาตรา 9 กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว ไม่ถูกต้อง และการนำทรายที่ขุดร่องน้ำทางเดินเรือ ออกไปจากพื้นที่ซึ่งตามระเบียบกรมเจ้าท่ากำหนด ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายและระเบียบ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและส่วนกลาง ตลอดถึงหน่วยงานความมั่นคง ได้ตรวจสอบอย่างจริงจังให้มีความชัดเจน เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ เนื่องจากทรายนำเข้าไม่ต้องชำระภาษี ชำระเพียงภาษี VAT 7 % เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับประเทศ ในอนาคตได้ และไม่มีความจำที่ต้องนำเข้า เนื่องจากภายในประเทศทรายมีเพียงพอ ไม่ขาดแคลน และราคาถูกกว่าทรายนำเข้า ควรยกเลิกการขุดลอกและการนำเข้าทราย เพื่อรักษาประโยชน์ชาติ
ฤาษีลภ-มนเดช จังหวัดหนองคาย