มข. ส่งเสริมการใช้ จยย.ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน อีกหนึ่งทางเลือกพลังงานทดแทน
มข. ส่งเสริมการใช้ จยย.ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน อีกหนึ่งทางเลือกพลังงานทดแทน
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม, ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด ,ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ,นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น ,รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ และนายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว ความสำเร็จ”โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน”
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ Research Transformation คือการปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยโดยปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัยไปสู่การทำวิจัยเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ (Impact) สูง และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม (Societal Contributions) และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live)เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เช่น การสนับสนุนนโยบายด้านการขนส่งพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับ”โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” เป็นตัวอย่างโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งวันนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ดูแลโครงการ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม ผู้รับผิดชอบดูแลเรื่อง Net Zero ของมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ตลอดจนบริษัทออสก้าโซลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ให้บริการจักรยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการผลิตแบตเตอรี่ภายใต้แบรนด์ UVOLT (ยู-โวลต์) ซึ่งผลิตโดยโรงงานแบตเตอรี่ และพลังงานยุคใหม่ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ โรงงานยังมีการผลิตและพัฒนาส่วนประกอบของแบตเตอรี่ ชนิดต่าง ๆ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งชนิดลิเทียมไอออนและโซเดียมไอออน ที่มีมาตรฐานระดับสากลในปัจจุบันการใช้งานแบตเตอรี่ของประเทศไทยนั้นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
การสร้างระบบนิเวศให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการออกมาตรการสนับสนุนที่จำเป็นในการขยายผลและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อให้ประเทศไทยสามารถ คว้าโอกาส ชิงความได้เปรียบ แข่งขันได้ทันกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุตามยุทธศาสตร์ Green and Smart Campus เพื่อให้เป็นองค์กรแบบชาญฉลาด คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ Great place to live เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการให้สิทธิเอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยการขาย ให้เช่าหรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมบริหารจัดการระบบอำนวยความสะดวก และติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station : BSS) เพื่อจัดหาผู้ประกอบการ และให้สิทธิ์ในการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อการต่อยอดการใช้งานภายในจังหวัดขอนแก่นต่อไป
ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายสำคัญที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโครงการสำคัญตามแผนที่สนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร ในกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ อาคารกีฬา อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ (Solar Floating) ในบ่อสำรองน้ำดิบของมหาวิทยาลัย รวมประมาณ 9.5 เมกกะวัตต์ และติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียอีกประมาณ 10 เมกกะวัตต์
ด้าน มรว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด เราให้บริการออกแบบและประกอบแบตเตอรี่แพค ลิเที่ยม สำหรับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องมีออุตสาหกรรม รวมไปถึงแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามากว่า 30 ปี ออสก้า เป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทย ที่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ และประกอบ โดยร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับโรงงานแบตเตอรี่ลิเที่ยมไออ้อนต้นแบบของ ม.ขอนแก่น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายในการยกระดับแบตเตอรี่ที่ผลิตได้เองในประเทศไทยไปสู่มาตรฐานระดับสากล