จ.เพชรบูรณ์ เปิดเส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เมืองราดพ่อขุนผาเมือง ต.บ้านหวาย - ไทยเสรีนิวส์
จ.เพชรบูรณ์ เปิดเส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เมืองราดพ่อขุนผาเมือง ต.บ้านหวาย

ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เมืองราดพ่อขุนผาเมือง ซึ่งตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย เป็นต้นกำเนิดของเมืองราด ซึ่งมีพ่อขุนผาเมือง กษัตริย์นักรบผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้ปกครอง ตำบลบ้านหวาย กอรปด้วยศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโบราญสถานหลาย ๆ แห่ง ที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การธำรงรักษาไว้ให้สืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง อาทิ เจดีย์พ่อขุนผาเมือง เจดีย์พระนางสิงขรเทวี หลวงพ่อตากแดด หลวงพ่อใหญ่ พระเจ้าองค์ตื้อ ต้นจำปาพันปี อนุสรณ์สถานเมืองราดพ่อขุนผาเมือง ศาลาข้าวสารดำ เป็นต้น

รวมถึงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อันเกิดจากการเรียนรู้ การอบรม บ่มเพาะ การสั่งสมความรู้จากรุ่นสู่รุ่น อาทิ วัฒนธรรมการกินการอยู่การดำรงชีวิต อาหารพื้นถิ่น การแสดงระบำทอผ้า การเส็งกลอง การฟ้อนแขบลาน การประกอบอาชีพ เกษตรกรปลอดภัย หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน กิจกรรมทางศาสนา งานประเพณี ตักบาตรเทโวโรหณะ แห่ปราสาทผึ้ง สรงน้ำพระธาตุฯ บุญบั้งไฟ กวนข้าวทิพย์ ภาษาและการแต่งกาย ไทหล่ม เป็นต้น

ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพแห่งวัฒนธรรมในตำบลที่เป็นลักษณะของ “เอกภาพทางวัฒนธรรมท่ามกลางความหลากหลาย”(cultural unity in diversity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการแต่งกาย ชาวบ้านหวาย แต่เดิมมีอัตลักษณ์ด้านการแต่งกาย ที่แสดงถึงตัวตน สะท้อนวิถีชีวิต ทั้งการแต่งกายของหญิงและชาย ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันจากอารยธรรมพื้นถิ่น โดยบุรุษ นิยมนุ่งกางเกงขายาวหรือครึ่งแข้งหรือนุ่งโสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดพุงหรือพาดไหล่ หรือ โพกศีรษะ ซึ่งผ้าขาวม้านี้สามารถใช้ปัดไล่แมลง เช็ดหน้า หรือพาดไหล่เพื่อแสดงความให้เกียรติต่อบุคคล หรือสถานที่ เช่น การใส่ไปทำบุญ หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นต้น

ส่วนสตรีจะนุ่งผ้าซิ่นทอเองด้วยไหมหรือฝ้าย เรียกว่า ซิ่นหมี่ บางคนจะนุ่งซิ่นมุก มีสีสันสวยงาม มีหัวซิ่นและตีนซิ่นที่ทอพิเศษและสวยงามเย็บต่อกัน เสื้อสมัยก่อน ไม่นิยมส่วนมากใช้ผ้ารัดหน้าอก และห่มผ้าสไบเฉวียงบ่าเวลาที่จะไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ หรือไปในงานสำคัญ ใส่ต่างหูทั้งสองข้าง และแต่เดิมนั้นผู้หญิงชาวหล่มจะต้องไว้ผมยาวแล้วเกล้าเป็นมวยไว้ด้ายหลังศีรษะบริเวณท้ายทอย นอกจากนี้ การแต่งกายและประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้านหวาย เชื่อมโยงไปถึงลวดลายในผ้าซิ่นหมี่ไทหล่ม เป็นผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่าน หรือ ซิ่นหมี่คั้นน้อย ทุกลวดลายมีความหมายบ่งบอกถึงตัวตน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรมประเพณี เช่น ประเพณีการจ้ำดอกเผิ้ง แห่ปราสาทผึ้งที่มีกันทุกวัดในตำบลบ้านหวาย กลายเป็นลายผ้าซิ่นที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนที่เรียกว่า ลายผาสารทเผิ้ง หรือปราสาทผึ้ง

จนกระทั่งในปัจจุบันมีการฟื้นฟูการแต่งกายแบบไทหล่ม ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งจากการรวมกลุ่มคนในหมู่บ้านที่เป็นช่างทอผ้าได้กว่า ๒๒ กี่ และจัดตั้งเป็น “กลุ่มทอผ้าไทหล่มบ้านหวาย” พร้อมๆ กับการส่งเสริมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะนี่คือรากเหง้า นี่คือตัวตน จากบรรพบุรุษลาวล้านช้าง” ซิ่นหัวแดงตีนก่าน เอกลักษณ์ ๑ เดียวในโลก จากอารยธรรมพื้นถิ่นของตำบลบ้านหวายดังกล่าว ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย เล็งเห็นถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีและทรงคุณค่าของท้องถิ่นให้คงอยู่ จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลบ้านหวาย เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าของอารยธรรมแก่ชาวบ้านหวายและประชาชนโดยทั่วไป และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะเป็นองคาพยพในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูและธำรงรักษาไว้ซึ่งศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้จัดทำโครงการเส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองราดพ่อขุนผาเมืองตำบลบ้านหวายขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของตำบลบ้านหวาย ในรูปแบบเยี่ยมชมพื้นที่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่งดงามของภูมิทัศน์ เป็นการเสริมสร้างรายได้และสร้างงานให้กับราษฎรและชุมชนดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบพื้นที่โครงการ และเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวที่เชิงประวัติศาสตร์




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000