“ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” เปิดฤดูกาลปลูกฝ้าย ฤดูกาลผลิต 2566 - ไทยเสรีนิวส์
“ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” เปิดฤดูกาลปลูกฝ้าย ฤดูกาลผลิต 2566

“ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” เปิดฤดูกาลปลูกฝ้าย ฤดูกาลผลิต 2566

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ณ กลุ่มทอผ้ามูนมังแม่ ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน เปิดงานฤดูกาลปลูกฝ้าย ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมการปลูกฝ้าย สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกฝ้าย และเป็นการประชาสัมพันธ์แนวคิด “เลย..เมืองแห่งผ้าฝ้าย” โดยมีนางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย/นายกเหล่ากาชาด นางเบญจวรรณ ตัญญู พาณิชย์จังหวัดเลย และนายประชา แสนกลาง นายอำเภอวังสะพุง นางทรงศิริ แก้วคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย นางสาวอุบลรัตน์ ไชยบุรมย์ นายช่างไฟฟ้าอาวุโส สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเลย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย และชาวตำบลปากปวนร่วมในพิธี

นายทวี เสริมภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ ชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model) ซึ่งสินค้าฝ้ายธรรมชาติของจังหวัดเลย ที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% มีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เป็นสินค้าที่สอดคล้องกับ BCG Model ที่สะท้อนถึงการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไป นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในปัจจุบัน ผ้าฝ้ายเมืองเลยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาต่อไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการกระจายรายได้ อันจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

นางเบญจวรรณ ตัญญู พาณิชย์จังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลย มีชื่อเสียงเรื่องการปลูกฝ้ายและทอผ้าฝ้ายมาตั้งแต่อดีต สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่ในปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกร ผู้ปลูกฝ้ายลดลงกว่าในอดีต ซึ่งสวนทางกับปริมาณความต้องการฝ้ายธรรมชาติในท้องตลาดที่มีมากขึ้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย จึงได้สนับสนุนคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย ในการส่งเสริมให้สินค้า “ผ้าฝ้ายเมืองเลย” ได้ขึ้นทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical lndications หรือ GI ) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ กระบวนการต้นน้ำ คือการปลูกฝ้าย โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกในจังหวัดเลย และวางแผนต่อเนื่อง ถึงการเป็นสินค้า BCG ว่าต้องปลูกฝ้ายอย่างไรให้สอดคล้องกับแนวคิด BCG

ซึ่งจะใช้สมาชิกในคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลยเป็นกลุ่มเครือข่าย แบ่งกลุ่มผู้ปลูกฝ้ายเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มผู้ปลูกฝ้ายอินทรีย์ มุ่งเน้นการผลิตสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดตอนบนและตลาดเฉพาะกลุ่ม และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผู้ผลิตฝ้ายไม่อินทรีย์ เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั่วไป โดยคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย มีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ปลูกฝ้ายภายในจังหวัดเลยให้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ผ้าฝ้ายเมืองเลย เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และยังเป็นการพัฒนา รักษา ต่อยอด วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของจังหวัดเลย ให้คงอยู่สืบไป

จ.เลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย ที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 พันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองของจังหวัดเลย มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ฝ้ายตุ่ยน้อย ฝ้ายตุ่ยใหญ่ ฝ้ายขาวน้อย ฝ้ายขาวใหญ่ วิถีเดิมจังหวัดเลยมีอากาศหนาวเย็นมาก ทุกครอบครัวต้องปลูกฝ้าย เพื่อนำดอกฝ้าย มาทำผ้าห่ม ผ้านวม และใช้ในชีวิตประจำวัน สืบทอดมาแต่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน ในช่วงปี 2520 รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลย และเป็นที่นิยมจนเป็นพืชไร่ที่ทำรายได้สูงสุดของจังหวัดเลย ทำให้เป็นที่มาของการจัดงาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย”
บุญชู ศรีไตรภพ จ.เลย




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000