ชวนเที่ยว “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” จังหวัดอุบลฯ - ไทยเสรีนิวส์
ชวนเที่ยว “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” จังหวัดอุบลฯ

ชวนเที่ยว “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” จังหวัดอุบลฯ

นางวาสนา สุราวุธ หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกผาหลวง เปิดเผยว่า วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น บ้านนาเลิน ตำบลนาเลิน อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 11,375 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ต่อมาในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในท้องที่ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร และตำบลนาเลิน ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 12,991 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 3 ง วันที่ 5 มกราคม 2564

เส้นทางไปวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ถ้าออกจากตัวเมืองอุบลราชธานี จะมีด้วยกัน 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 ไปตามเส้นทาง อุบลราชธานี – ตระการพืชผล แล้วเลี้ยวขวาไปอำเภอศรีเมืองใหม่ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางศรีเมืองใหม่ – บ้านนาเลิน ก็มาถึงวนอุทยานน้ำตกผาหลวง รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 ไปตามเส้นทางอุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร ข้ามสะพานพิบูลมังสาหารตรงขึ้นไปอำเภอศรีเมืองใหม่แล้วเลี้ยวขวาตามเส้นทางศรีเมืองใหม่ – บ้านนาเลิน รวมระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 ไปตามเส้นทางอุบลราชธานี – ตาลสุม แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางบ้านนามน-หนองแก้งกอก และตรงไปตามเส้นทางศรีเมืองใหม่ – บ้านนาเลิน รวมระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ 1. หิน มีลักษณะหินหน่วยภูพาน (Phu Phan Formation) เป็นหินทราย (Sand Stone) สีขาว สีส้มเรื่อ สีน้ำตาลปนเหลือง มีการตกทับถมเป็นรอยชั้นขวาง (Cross bedding Sedimentary) เป็นหินที่เกิดในยุค Cretaceous (ประมาณ 132 ล้านปีมาแล้ว) 2. ดิน ลักษณะดิน ดินชุดโคราช (Korat Series) เป็นดินที่เกิดจากตะกอนของน้ำเก่าเช่นกันดินชั้นบนลึกระหว่าง 0-60 เซนติเมตร เป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย ส่วนที่ลึกเกิน 60 เซนติเมตร ลงไปจะมีเนื้อดินละเอียดกว่าเป็นพวกดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน บางแห่งอาจเป็นดินร่วนปนดินเหนียว แต่โดยทั่วไปแล้วจะพบเนื้อดินพวกดินร่วนปนทรายตลอดทุกชั้นของดิน ดินชั้นบนจะมีสีน้ำตาลปนเทา เมื่อเปียกน้ำจะมีสีเข้มขึ้น เมื่อแห้งจะมีสีเทาอ่อน ดินชั้นล่างมีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลปนเหลือง จุดสีในดินส่วนมากไม่ค่อยมีจุดสีปรากฏให้เห็น ในดินชั้นบนเห็นได้ชัดกว่าดินชั้นล่าง แต่จะมีบ้างในดินชั้นล่างที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายมีความเป็นกรดด่าง ประมาณ 4.5-5.5 การระบายน้ำอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงดี จะไม่พบศิลาแลงในระดับความลึก 0-60 เซนติเมตร

นายศิวะนันท์ จันทะสาต เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ประจำวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ได้เปิดเผยถึง แหล่งท่องเที่ยว ในวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ว่า แหล่งท่องเที่ยวมีหลายแห่งด้วยกัน เช่น บริเวณยอดเขาแต่ละยอดจะมีถ้ำอยู่หลายแห่ง แต่เป็นถ้ำขนาดเล็ก และที่สำคัญคือ จะมีน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร จากหน้าผาลงมาสู่แอ่งน้ำข้างล่าง และบริเวณบนน้ำตกจะมีที่ราบเป็นพลาญหิน หน้าผามีความสูงชัน มีความยาว 200-300 เมตร ใกล้น้ำตก

ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ในวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ได้แก่ น้ำตกผาหลวง เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดบนภูหลวง เกิดจากการรวมตัวของร่องน้ำ 3 สายบริเวณป่าดอนบาก ป่าดอนชาดและโบกกบ ไหลมาบรรจบกัน เป็นแอ่งเล็ก แอ่งน้อยรวมตัวกันจนเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ พอมีปริมาณมากก็ไหลหลากตกลงจากเพิงหน้าผาลงสู่เบื้องล่าง กลายเป็นน้ำตก ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า “น้ำตกผาแซ” เรียกตามร่องน้ำหรือชาวบ้านเรียกว่า “แซ” ต่อมาทางราชการได้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๘ จึงได้ตั้งชื่อให้เป็นทางการ โดยนำเอาแหล่งต้นกำเนิดน้ำตกเป็นชื่อเรียก จึงกลายมาเป็นน้ำตกที่มีชื่อว่า “น้ำตกผาหลวง”

ในปัจจุบันน้ำตกผาหลวง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม โดดเด่น น้ำตกจากหน้าผาสูงชันสามารมองเห็นได้ในระยะไกล เป็นน้ำตกที่มีม่านน้ำตกกว้าง และหลังม่านน้ำตกมีเพิงถ้ำขนาดใหญ่อยู่หลังม่านเปรียบ เสมือนเป็นม่านน้ำตกที่ปกปิดถ้ำเอาไว้ จึงเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอันดับต้นๆของจังหวัดอุบลราชธานี น้ำจะไหลตามร่อง (แซ) ลงสู่ห้วยท่าแตง ห้วยม่วงและห้วยตุงลุง ช่วงที่มีน้ำมากในเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี หลวงพ่อผาหลวง ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใต้เพิงถ้ำหลังม่านน้ำตก ซึ่งเป็นเพิงถ้ำลึกประมาณ 10 เมตร ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีพระธุดงค์จากที่อื่นมาถือศีลเข้าพรรษา ชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ได้มอบถวายองค์พระพุทธรูปรวม 5 องค์

เสาเฉลียง บริเวณเสาหินเฉลียงเป็นชั้นหินทรายที่เกิดจากการสะสมของตะกอนทางน้ำในอดีต ถูกจัดอยู่ในหมวดหินภูพาน (Phuphan Formation) กลุ่มหินโคราช (Korat Group) โดยลักษณะภูมิสัณฐาน (Morphology) ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากชั้นหินทรายเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เนื่องจากการยึดและหดตัวตามสภาพภูมิอากาศที่ร้อนในเวลากลางวันและอากาศเย็นในเวลากลางคืน ทำให้ชั้นหินเกิดรอยแตกและรอแยก ในเวลาต่อมาชั้นหินถูกการกัดเซาะด้วยกระแสน้ำและลม และทำให้ชั้นหินส่วนที่เหลือปรากฏ ให้เห็นเป็น “เสาเฉลียง”

น้ำตกรากไทร อยู่ระหว่างทางขึ้นไปบนหน้าผา ซึ่งน้ำตกนี้จะไหลลงทางเดินขึ้นไปดูน้ำตกผาหลวงมีความสูง ประมาณ 8 เมตร มีน้ำมากในช่วงเดือนกรกฎาคม หยดน้ำทิพย์ เป็นน้ำที่ไหลซึมออกจากรอยแยกของหินบริเวณหน้าผา แล้วหยดลงมาตามรากไม้ในฤดูฝนจะมีน้ำมากถึงขนาดไหลแรง และจะมีน้ำซึมจนถึงหน้าแล้ง จุดชมหน้าผาน้ำตก เป็นจุดชมวิวที่อยู่บนจุดที่น้ำตกผาหลวงตกลงไปด้านล่าง ด้านบนหน้าผาสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบหมู่บ้านนาเลิน

โบกนกยูง เป็นปรากฏการณ์ของหินมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดไม่ใหญ่นัก หรือที่เรียกว่า POT HOLE จำนวน 7 แอ่ง เกิดจากการหมุนเวียนของน้ำทำให้ทรายและหินกัดเซาะทำให้เกิดเป็นแอ่ง เมื่อน้ำไหลผ่านนานเข้าทำให้เกิดการกัดเซาะแอ่งนั้นจนสึกจนมีขนาดเล็กและใหญ่ขึ้น ปรากฏการณ์นี้ใช้เวลานานนับหลายร้อยปี น้ำตกลงป่อง มีความสูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะน้ำจะไหลลงป่องหิน ซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์เอาไว้เป็นป่องหิน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70 เซนติเมตร ช่วงที่มีน้ำมากในเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี เสาเฉลียงโบกนกยูง เป็นเสาหินขนาดเล็กเกิดจากการกัดเซาะทางธรรมชาติ ด้านบนเป็นแผ่นหินวางอยู่บนแท่งเสาหิน

ลานจระเข้หิน เป็นก้อนหินทรายขนาดเล็กและใหญ่ เป็นกลุ่มมีลักษณะรูปทรงคล้ายจระเข้ ทุ่งดอกหญ้า ทุ่งหญ้าที่มีดอกไม้ที่มีสีสันสวยงามระรานตา เกิดขึ้นเป็นเต็มทุ่งเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ได้รับพระราชทานนาม ซึ่งได้แก่ ดุสิตา สรัสจันทร สร้อยสุวรรณา มณีเทวา ทิพย์เกษรและอื่นๆอีกหลายชนิด เที่ยวชมได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม ลานเต่าหิน เป็นก้อนหินทรายขนาดเล็กและใหญ่ เป็นกลุ่มมีลักษณะรูปทรงคล้ายเต่า เสาเฉลียงเก้านางดอนบาก มีลักษณะเป็นแท่งเรียงซ้อนทับกันเป็นแถว ส่วนแผ่นหินด้านบนเป็นรอยแยก เกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนและลมตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายร้อยปีทำให้เกิดรอยแยกออกเป็นกลุ่มก้อน นับได้ 9 ก้อน จึงเป็นที่มาของชื่อ “เก้านางดอนบาก” ซึ่งเป็นเสาเฉลียงขนาดใหญ่วัดฐานโดยรอบ 30 เมตร สูง 7 เมตร

จุดชมวิวหม้อหินผาหลวง เป็นลักษณะก้อนหินขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายหม้อข้าว และเป็นจุดที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ 360 องศา ปล่องช้างลอด เป็น ความเชื่อในสมัยโบราณมีคำเล่าขานว่า เป็นจุดที่ช้างเดินลอดผ่านไป – มา เพื่อลงไปดื่มน้ำและหาอาหารบริเวณด้านล่าง และผาผึ้ง เป็นหน้าผาที่มีผึ้งมาทำรังอยู่มากมาย ปัจจุบันถูกมนุษย์ทำลาย คงยังหลงเหลือร่องรอยและรังผึ้งใหม่ที่กำลังขยายพันธุ์อยู่ไม่มากนัก

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหินมหัศจรรย์ ภาพเขียนสีโบราณผาทอย น้ำตกเจ็ดเทวา เสาเฉลียงหลังเยน ถ้ำวงละคร ถ้ำแตก ให้เที่ยวชมอีกด้วย นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังมีที่พักสงฆ์โดยรอบวนอุทยานน้ำตกผาหลวง อีกหลายแห่งให้เที่ยวชมและกราบไหว้ เช่น วัดป่าผาผึ้งภูหลวง เป็นวัดที่อยู่พื้นล่างหน้าผาผึ้ง จะมีพระมาจำพรรษาอยู่เป็นประจำทุกปี วัดภูกุ้มข้าว มีกุฏิที่ตั้งอยู่บนเนินพลาญหินที่มีความสูง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้โดยรอบ วัดภูพระเจ้า (วัดถ้ำพระเจ้าคอกุด) เป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ในถ้ำ บ้านนาทอย ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ได้มีพระมาถือศีลในบริเวณถ้ำแห่งนี้ ชาวบ้านจึงได้นำองค์พระมาถวายโดยบรรทุกใส่เกวียนมา แต่เส้นทางในการขนย้ายนั้นขรุขระทำให้องค์พระเกิดเศียรหักและหล่นหายไปในระหว่างทาง เหลือแต่องค์พระ ชาวบ้านจึงนำมาประดิษฐานในถ้ำไว้ก่อน ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะองค์พระให้สมบูรณ์ เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชาในงานประเพณีต่างๆประจำหมู่บ้าน

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง กำลังก่อสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยว ขนาด 4 คน จำนวน 2 หลัง หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางมาพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง ทางวนอุทยานจัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเอง และไปติดต่อขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวงโดยตรง และวนอุทยานน้ำตกผาหลวงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 คัดกรองนักท่องเที่ยวตามมาตรการท่องเที่ยว New Normal อย่างเคร่งครัด อีกด้วย

นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มีความประสงค์ไปเยี่ยมชม วนอุทยานน้ำตกผาหลวง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ ได้ที่ โทร.080 279 7459 หรือที่ อบต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ โทร.045 252574 หรือที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714

เครดิตภาพ : ศิวะนันท์ จันทะสาต
ทีมข่าวเฉพาะกิจ / รายงาน




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000