โชว์ไอเดียสุดเจ๋ง...นักศึกษา ม.อุบลฯ พัฒนาต้นแบบ “ถ้วยรองรับน้ำยางที่สามารถจับตัวน้ำยางได้อัตโนมัติ” เป็นผลงานที่โดดเด่น สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง - ไทยเสรีนิวส์
โชว์ไอเดียสุดเจ๋ง…นักศึกษา ม.อุบลฯ พัฒนาต้นแบบ “ถ้วยรองรับน้ำยางที่สามารถจับตัวน้ำยางได้อัตโนมัติ” เป็นผลงานที่โดดเด่น สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง

โชว์ไอเดียสุดเจ๋ง…นักศึกษาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ “ถ้วยรองรับน้ำยางที่สามารถจับตัวน้ำยางได้อัตโนมัติ” รับทุน 100,000 บาท

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาทีม Rubber UBU gen 14 และอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือก 1 ใน 5 ทีม รับทุนพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ จำนวน 100,000 บาท จากกิจกรรม Pitching โครงการ “Smart Natural Rubber Hackathon” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทยร่วมกับอุทยานวิทยาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเมื่อวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องคริสตัล โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

สำหรับนักศึกษาสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับทางคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง และในครั้งนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ “Smart Natural Rubber Hackathon” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทยร่วมกับอุทยานวิทยาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเมื่อวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องคริสตัล โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเฟ้นหา เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราด้วยการสนับสนุนทุนพัฒนา Prototype รวมมูลค่า 500,000 บาท

โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเสนอแนวคิดจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ จำนวน 16 ทีม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ส่งไอเดียเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วยกัน จำนวน 2 โครงการ/ทีม ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ  วัดจัง อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วย ทีม 2NHM RPT 14 พัฒนาไอเดีย “เครื่องหยดและกวนน้ำกรดอัตโนมัติ” แนวคิดของ นายชลชาติ จิตต์ภักดี นางสาวสุพิฌาย์ นารี นางสาวเมธาวดี แสนทวีสุข และนางสาวชลธิชา ธรรมวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นนวัตกรรมเพื่อลดแรงงานและเวลาในการหยดน้ำกรดพร้อมกวนน้ำกรดในการผลิตยางก้อนถ้วย

และ ทีม Rubber UBU gen 14 พัฒนาไอเดีย “ถ้วยรองรับน้ำยางที่สามารถจับตัวน้ำยางได้อัตโนมัติ” แนวคิดของ นายณรงค์เดช ดาผา นายธนากร รูปสี นายอมรศักดิ์ สืบสิน นางสาวชไมพร สุริยา และ นางสาวสกุลทิพย์ อยู่สอน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นนวัตกรรมที่สามารถจับตัวน้ำยางสดได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเติมน้ำกรด และเป็นผลงานที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ว่าเป็นผลงานแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง และเป็นแนวคิดที่ได้รับทุนสนับสนุนในการพัฒนาต้นแบบ (Prototype) จำนวน 100,000.- บาท ติด 1 ใน 5 ทีม ที่จะต้องพัฒนาและต่อยอดแนวคิดเพื่อนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกครั้ง ทั้ง 5 ทีม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ในงาน Demo Day ต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ต้องขอบคุณการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่ายางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และได้มอบโอกาสดี ๆ ในการจัดโครงการ Smart Natural Rubber Hackathon โดยเปิดโอกาสให้แก่นิสิต นักศึกษา ได้ส่งแนวคิดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจเข้าร่วมนำเสนอในครั้งนี้

ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่สนับสนุนและฝึกทักษะในการคิด เพื่อสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ให้กับนักศึกษา ดังนั้น นักศึกษาที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอแนวคิดในกิจกรรม Smart Natural Rubber Hackathon ครั้งนี้ จึงได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงในการ Pitching และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อเป็นผู้ประกอบการในอนาคตต่อไปได้

นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ และหนึ่งความสำเร็จของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่โชว์ผลงานและสร้างชื่อเสียงให้แก่ทางคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะครบรอบ 32 ปี แห่งการสถาปนาและก่อตั้งที่จะเวียนมาถึงในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นี้

 

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ข่าว/ภาพ สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์

กฤษณะ วิลามาศ รายงาน




ป้ายกำกับ:, , , , , ,

สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000