กรมสุขภาพจิต ส่งเสริมสุขภาพแรงงานไทย Move on ได้ด้วยกายใจเป็นสุข - ไทยเสรีนิวส์
กรมสุขภาพจิต ส่งเสริมสุขภาพแรงงานไทย Move on ได้ด้วยกายใจเป็นสุข

กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและ สสส. จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาแบบองค์รวม พร้อมบูรณาการเชิงรุกเพื่อแรงงานไทย Move on ได้ด้วยกายใจเป็นสุข

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมเวลาดี อ.เมือง อุดรธานี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดรอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบองค์รวม (Holistic Health Advisor) ภายใต้โครงการสร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล ในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยมี นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 นายนภดล จงสมชัย แรงงานจังหวัดอุดรธานี  หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เครือข่ายเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบการ 22 แห่ง จากพื้นที่ 16 จังหวัด ใน 8 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 2 3 4 7 8 9 10 และ 13 บุคลากรศูนย์สุขภาพจิต รวม 100 คน วิทยากรจากธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต

 

นางสาวศิริลักษณ์ แก้วเกียรติพงษ์  ประธานผู้บริหารกลุ่มศูนย์สุขภาพจิต กล่าวว่า จากวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยี สร้างวิกฤติทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในวัยแรงงาน ซึ่งมักเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ไม่เหมาะสม และพบปัญหาการว่างงาน มีรายได้ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดปัญหาหนี้สิน เป็นต้น ปัญหาต่างๆในชีวิต ขาดคนรับฟัง ขาดคนเข้าใจ ให้คำแนะนำหรือขาดโอกาส ช่องทางและเวลาในการรับคำปรึกษาจากหน่วยงานทางสุขภาพจิต

 

ในสถานประกอบกิจการ มีเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล ทำหน้าที่สร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุคลากรในองค์กร กลุ่มศูนย์สุขภาพจิต เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยแรงงานผ่านเครือข่ายเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล จึงจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล ให้สามารถดำเนินการตามหลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบองค์รวม (Holistic Health Advisor) สามารถส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ให้คำแนะนำด้านสุขภาพกาย ใจ การเงิน ให้กับแรงงานในสถานประกอบการและประชาชนทั่วไปได้ ให้ประชาชนวัยแรงงานมีความรอบรู้ด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน

 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2564 ได้ระบุไว้ว่า ประเทศไทย มีประชากรที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ ประมาณ 15 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของกลุ่มผู้มีงานทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องแรงงานของเรานั้นนับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ แต่สถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลาต่อเนื่องมายาวนานทำให้ ส่งผลต่อวิกฤติทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน  พี่น้องแรงงานได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจการเงินรวมไปถึงสถานการณ์ทางจิตใจ ซึ่งถึงแม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีพี่น้องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอีกไม่น้อย ที่ยังประสบปัญหาทั้งการเจ็บป่วยทางกาย เจ็บปวดทางจิตใจ จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียการงาน มีรายได้ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดปัญหาหนี้สิน มีความเครียดและกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวังหมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

แพทย์หญิงอัมพรฯ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อให้ประชาชนในทุกกลุ่มวัย สามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ซึ่งบุคคลสำคัญในกลุ่มของพี่น้องแรงงานไทย นั่นก็คือ “เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบกิจการ” ซึ่งจะมีบทบาทคนกลางที่จะเชื่อมโยง ส่งผ่านความหวัง ความห่วงใย ความปรารถนาดี ไปถึงกลุ่มวัยทำงานแรงงาน ให้สามารถจัดการความเครียด มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลัง ความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤตไปได้

ซึ่งขณะนี้ ได้กลุ่มเครือข่ายที่สามารถให้คำปรึกษาแบบองค์รวม (Holistic Health Advisor) ทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน ให้กับแรงงานในสถานประกอบกิจการและประชาชนทั่วไป ซึ่งคงต้องขอขอบคุณความร่วมมือของทุกฝ่าย ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมไปถึงบุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน โครงการดีๆ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อช่วยต่อยอดพัฒนาศักยภาพ ทักษะต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบกิจการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทย ให้ Move on ได้ด้วยกายใจเป็นสุข

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มีนโยบายการดำเนินงานในแผนสร้างเสริมสุขภาพจิต ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในระยะ 10 ปี ข้างหน้า โดยได้กำหนดทิศทางที่จะช่วยสานพลัง และหนุนเสริมภารกิจของภาคส่วนต่างๆ  สร้างเสริมและป้องกัน โดยการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลตลอดช่วงวัย และการพัฒนามาตรการนโยบายและระบบสนับสนุน ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคล และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและสังคม ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี ได้สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก กลุ่มวัยแรงงาน “การสร้างสุข ลดทุกข์”

ซึ่งดำเนินงานพัฒนารูปแบบทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ โดยสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับแรงงานในระบบของสถานประกอบการ โดยได้ดำเนินการสร้างต้นแบบ 6 แห่ง ต่อเนื่องไปยังโครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน แรงงานผ่านเครือข่าย HR ในสถานประกอบการต้นแบบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขภาพจิต โดยพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีต่อการเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม โดยสามารถนำความรู้ไปส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานประกอบกิจการต่อไปได้




ป้ายกำกับ:, , , ,

สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000