คณะกรรมาธิการวิสามัญ รับฟังปัญหาการจัดการแหล่งน้ำของ อปท. เร่งสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอสภาผู้แทนราษฎร - ไทยเสรีนิวส์
คณะกรรมาธิการวิสามัญ รับฟังปัญหาการจัดการแหล่งน้ำของ อปท. เร่งสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมาธิการวิสามัญ รับฟังปัญหาการจัดการแหล่งน้ำของ อปท. เร่งสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอสภาผู้แทนราษฎร

 

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565 ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะ กิจกรรมสาธารณะ และหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 พร้อมด้วย นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 7 น.ส.จิณณพัต เพ็งนรพัฒน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ นายศุภชัย มโนการ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการฯ นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการ สทนช.นางพรทิพย์ ผ่องศรี ผอ.กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 2 นายกมล ชัยกันทะ ท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ นายพิศิษฐศักดิ์ โชตะมังสะ ชลประทาน จ.ศรีสะเกษ ได้มารับฟังความคิดเห็นของประชาชน อ.กันทรลักษ์ โดยมี นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ดร.อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 นายก อบจ. นายอำเภอทุกอำเภอ นายก อบต. ส.อบต.และประชาชนชาว อ.กันทรลักษ์ มาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 กล่าวว่า ในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะกิจกรรมสาธารณะและหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่ อปท.สภาผู้แทนราษฎรเรื่องปัญหาการบริหารจัดการแหล่งน้ำของ อปท.ที่ตนได้รับผิดชอบเป็นประธานอยู่ขอเรียนว่าในเบื้องต้น ตนเป็นคนแรกที่ยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เป็นฉบับที่ 1 คือเรื่องการ ผันน้ำ โขง ชี มูล ป่าสักและโครงการดังกล่าวได้บรรลุเป้าหมายสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจเมื่อปี 2542 ซึ่งมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นคือ อบต.อบจ.กับเทศบาล ก็ได้มีกฎหมายฉบับหนึ่งจำได้ว่าสมัยนั้นตนอยู่พรรคความหวังใหม่ซึ่งมี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้เสนอเรื่องนี้หลังจากนั้นเราก็ให้ท่านกำนันเป็นประธาน อบต.ไปก่อนหลังจากมีการเลือกตั้ง

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กล่าวต่อไปว่า แต่กฎหมายถ่ายโอนปี 2542 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้หลาย 10 ปีโดยที่เราไม่ได้มีการศึกษากันอย่างถ่องแท้และแม้แต่ผู้นำท้องถิ่นก็ไม่ได้มีการศึกษาว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรทำให้มีปัญหากับพี่น้องประชาชนเมื่อมีการถ่ายโอนมาแล้วคำว่า 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร แปลว่าหากงบประมาณเกิน 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรก็ให้ราชการส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ แต่ถ้าต่ำกว่า 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ 1,000,000 ลูกบาศก์เมตรก็ประมาณ 40 ล้านบาท 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรก็ประมาณ 80,000,000 ล้านบาท

เมื่อฝายแตกฝายร้าว ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เมื่อประชาชนเดือดร้อนจากการใช้น้ำไปหาชลประทานชลประทานก็บอกว่าเราได้โอนไปแล้วไม่สามารถดำเนินการได้แต่ถามว่ามีความพร้อมไหม เรามีความพร้อมบุคลากรเม็ดเงินมี ส่วนท้องถิ่นนั้น 30 วันพร้อมหรือไม่หนึ่งเม็ดเงินไม่มี บุคลากรไม่พร้อม เพราะว่าการที่จะสร้างฝายจะต้องมีวิศวกรจะต้องมีลายเซ็นเพราะตรงนี้ทำให้เห็นภาพความล้มเหลวมานานตั้งกี่ปีแล้ว เพราะประชาชนเดือดร้อนจริงๆยามแล้งก็แล้งจัด น้ำมากน้ำก็ไหลลงไปหมด ไม่สามารถที่จะเก็บน้ำได้

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กล่าวด้วยว่า ดังนั้น คณะกรรมาธิการชุดนี้จึงได้เล็งเห็นความเดือดร้อนเราก็ถามงบประมาณว่าทำไมงบประมาณจึงไม่ให้ งบประมาณก็บอกว่าให้ไปแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทำให้ท้องถิ่นมีปัญหามาก เราคิดอยู่แล้วว่าต้องแก้แล้ว อบต.ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ คงมีความสามารถไม่พอ ปกติแล้วช่างจะมีจบ ปวช.ปวส ในจังหวัดบางจังหวัดที่ไม่มีช่างที่จบวิศวะกร มีลายเซ็นได้เลย ก็จะเห็นในภาพเลยว่า จะมีเฉพาะ อบจ. ทำให้ อบต. หากจะสร้างก็ต้องไปจ้างลายเซ็นเมื่อเสร็จแล้วเขาไม่ได้มาดูหรอกก็ทำให้เห็นว่ามันล้มเหลว เพราะฉะนั้นเราต้องการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดว่า

วันนี้ท้องถิ่นขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่มีความสามารถขนาดไหน ดังนั้นวิธีการแก้ตนจะเร่งสรุปปัญหาเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคมนี้เพื่อจะได้นำส่งต่อสภาผู้แทนราษฏร เมื่อสภาฯเห็นชอบแล้วนั้นเราก็จะต้องไปดำเนินการเห็นชอบในวาระที่ 2 จากนั้นก็จะได้ส่งให้รัฐบาลนำไปดำเนินการต่อไปตามกระบวนการหากรัฐบาลไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายการละเว้น 157 อันนี้ก็ขอเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าในการแก้ปัญหาที่เราไปทุกภาคเพื่อรับฟังความคิดเห็นและจะได้สะท้อนปัญหาอุปสรรคต่างๆ ตนขอยืนยันว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้มีความตั้งใจและมั่นใจว่าจะประสบผลสำเร็จในการประชุมของสมัยสามัญครั้งต่อไปคิดว่าจะนำเสนอต่อสภาฯให้ทันต่อ

นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 7 กล่าวว่า ตนขอเรียนว่าสืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการถ่ายโอนและการบริหารจัดการสาธารณะและของ อบต.จนทำให้เรามีการเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรและท่านประธานชวน หลีกภัย ได้มอบให้มีคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดและในวันนี้ได้ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ตนเป็นรองประธานกรรมาธิการด้วย สำหรับการดำเนินการในวันนี้ต้องเรียนว่าพี่น้อง อปท.ทั้งหมดให้ความสนใจและได้ระบายถึงความเดือดร้อนของปัญหาการถ่ายโอนมากมาย อาทิเช่นเขื่อนอ่างเก็บน้ำหรือฝายที่พังแล้วยังไม่ได้รับการซ่อมแซม เช่น ฝายบ้านขะยูง และเรายังมีเรื่องของระบบกระจายน้ำและเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม

ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้บอกไปทางท่านอธิบดีกรมชลประทานและและตัวแทนชลประทานตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการแล้ว อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราก็ได้มาฟังความคิดเห็นมีการกรอกแบบสอบถามที่ให้ อบต.ทุกคนได้กรอกเพื่อจะได้นำเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรและทางรัฐบาลดำเนินการต่อไป วันนี้ก็ถือว่าเป็นการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการที่ได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่งตนต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและทางคณะกรรมาธิการก็จะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่มาให้ข้อมูลความคิดเห็นในครั้งนี้ เราพร้อมที่จะรับฟังเพื่อดำเนินการต่อไป

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000