“ถ้ำเลสเตโกดอน” ทุบสถิติความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ถ้ำสูงสุดในไทย - ไทยเสรีนิวส์
“ถ้ำเลสเตโกดอน” ทุบสถิติความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ถ้ำสูงสุดในไทย

นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุ ถ้ำเลสเตโกดอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล มีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตสูงสุดในประเทศไทย 129 ชนิด ทำลายสถิติของถ้ำภูผาเพชร ที่มีรายงานก่อนหน้านี้ 94 ชนิด และยังค้นพบสิ่งมีชีวิตในถ้ำอุทยานธรณีโลกสตูล ที่คาดว่าเป็นชนิดใหม่ 3 ชนิด อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

 

จากการลงพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในถ้ำของอุทยานธรณีโลกสตูล ภายใต้โครงการ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน” โดยความร่วมมือของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีและศูนย์แม่ข่ายประสาน อพ.สธ. ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 8 – 10 มี.ค. 64 ที่ผ่านมานั้น


ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในถ้ำเป้าหมายจำนวน 3 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน (อำเภอทุ่งหว้า) ถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ (อำเภอละงู) พบว่า ถ้ำเลสเตโกดอน มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด โดยสำรวจพบสัตว์มีกระดูกสันหลัง 34 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 95 ชนิด รวม 129 ชนิด ซึ่งได้ทำลายสถิติของถ้ำภูผาเพชร ที่มีรายงานความหลากหลายทางชีวภาพจำนวน 94 ชนิด

ทั้งนี้ ตัวเลขของการศึกษารวมชนิดสัตว์ที่พบทั้งในถ้ำ บริเวณปากถ้ำ และขอบนอกของตัวภูเขาหินปูนด้วย อย่างไรก็ตาม สัดส่วนสิ่งมีชีวิตที่พบนอกถ้ำถือว่าน้อยมาก สามารถยืนยันชัดเจนว่าถ้ำเลสเตโกดอนมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากกว่าถ้ำภูผาเพชรแน่นอน เนื่องจากถ้ำเลสเตโกดอนมีน้ำลอด ทีมวิจัยได้สำรวจตั้งแต่ใต้ท้องน้ำ พื้นถ้ำ และเพดานถ้ำ เนื่องจากถ้ำเลสเตโกดอนมีน้ำลอด รวมทั้งเชื่อมไปยังทะเลเปิดข้างนอก มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ดังนั้น ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจะมีทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ตลอดจนสัตว์ถ้ำที่อยู่ตามพื้นถ้ำ และเพดานถ้ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อเทียบกับถ้ำอุไรทองและถ้ำทะลุ ซึ่งไม่มีน้ำผ่าน และเป็นถ้ำที่สั้นมาก จึงทำให้สำรวจพบสิ่งมีชีวิตน้อยมาก

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังสำรวจพบ แมลงสาบทะเล สกุล Cirolana ที่ถ้ำเลสเตโกดอน แมลงหางดีด ที่ถ้ำอุไรทอง และมดคอยาว ที่ถ้ำทะลุ ซึ่งคาดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบและตั้งชื่อ รวมทั้งยังสำรวจพบค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ ซึ่งเป็นค้างคาวเฉพาะถิ่นของไทย พบในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น และยังไม่มีรายงานการสำรวจพบที่จังหวัดสตูล

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ได้จะนำไปสนับสนุนการประเมินของยูเนสโก เป็นฐานข้อมูลและองค์ความรู้แก่ชุมชน เพื่อนำไปต่อยอดในการถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ เป็นวัตถุดิบแก่ไกด์ท้องถิ่นเพื่อดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวนอกเหนือจากการเล่าเรื่องของถ้ำ เป้าหมายต่อไปคาดว่าจะจัดให้มีการฝึกอบรมมัคคุเทศก์รุ่นเยาว์ ส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษและภาษามาลายู เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ตลอดจนการผลิตสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ข้อแนะนำในการเที่ยวถ้ำ โดยรบกวนสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำน้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และยังคงร่วมกับอุทยานธรณีโลกสตูล และ สวทช. เดินหน้าลงพื้นที่ศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่อไป

“สิ่งสำคัญคือการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและถ้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ชุมชนนำไปสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน ชุมชนยังคงใช้ประโยชน์ต่อไป และทรัพยากรไม่ถูกทำลาย นี่คือเป้าหมายสูงสุด” ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000