กาฬสินธุ์ ชาวนาสุดช้ำโควิดชีวิตลำบากซ้ำราคาข้าวนาปรังตกต่ำวอนรัฐช่วย - ไทยเสรีนิวส์
กาฬสินธุ์ ชาวนาสุดช้ำโควิดชีวิตลำบากซ้ำราคาข้าวนาปรังตกต่ำวอนรัฐช่วย

ชาวนาในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ ระบุทุกวันนี้ใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เนื่องจากระมัดระวัง การได้รับเชื้อโควิด-19 หนำซ้ำนำข้าวเปลือกนาปรังไปขาย หวังนำเงินได้ไปใช้หนี้ ธกส. จ่ายค่าปุ๋ย และทำบุญช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลับได้ราคาต่ำ ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก วอนรัฐบาลช่วยเหลือ

 


เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ของชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เขต ต.นาเชือก และ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้ว รวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตของประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการคุมเข้มความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ เนื่องจากพบว่ามีการแพร่ระบาดในวงกว้างในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์


นายปี วรรณศรี อายุ 69 ปี ชาวนาบ้านนาเชือก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ของตนและชาวนาปีนี้ มีความหวังที่จะนำรายได้จากการขายข้าว มาใช้หนี้ ธกส. ชำระค่าปุ๋ยเคมี ทำบุญในเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กลับต้องรู้สึกท้อแท้ แทบสิ้นหวัง เนื่องจากราคารับซื้อข้าวยังตกต่ำ ซึ่งเป็นการตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ขายข้าวนาปีเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยแหล่งรับซื้อให้ราคาเพียง ก.ก.ละ 7.40.-7.50 บาทเท่านั้น ทำให้ชาวนาประสบปัญหาขายข้าวขาดทุนซ้ำซาก


นายปี กล่าวอีกว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ แทนที่ตนและชาวนารวมทั้งประชาชนทั่วไปจะดีใจ ได้ทำบุญและท่องเที่ยวสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทยอย่างมีความสุข กลับต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและเต็มไปด้วยความลำบาก เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่าเคร่งครัด ซึ่งก็พอที่จะปรับตัวได้ เพื่อตนและคนในครอบครัว รวมทั้งทุกคนในชุมชนจะมีความปลอดภัย ไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ที่ทำใจไม่ได้คือราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรังที่ยังตกต่ำ ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนดังกล่าว


นายปี กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นทุนการผลิตของชาวนาในปัจจุบันยังสูงมาก ทั้งค่ารถไถ ค่าแรง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าน้ำมันสูบน้ำ ถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยวก็ยังมีค่ารถเกี่ยว ค่าขนส่ง รวมแล้วต้นทุนการผลิตข้าวสูงกว่าไร่ละกว่า 2,000 บาท ขณะที่ผลผลิตข้าวได้ไม่เกินไร่ละ 3,500 ก.ก. ขายข้าวเปลือก ก.ก.ละ 7.40-7.50 บาท ได้เงินประมาณ 2,500-2,600 บาทเท่านั้น ก็แทบจะไม่เหลืออะไร จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือชาวนา โดยปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงขึ้น หรือให้ดีที่สุดคือมีโครงการประกันราคาข้าวเปลือก รวมทั้งช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวด้วย เพราะขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก

 




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000