กนอ.ปลื้มนิคมฯอุดรธานี คืบหน้าแล้วกว่า 70 % มั่นใจหลังโควิด-19 คลี่คลาย สัญญาณลงทุนเป็นบวกแน่นอน (มีคลิป) - ไทยเสรีนิวส์
กนอ.ปลื้มนิคมฯอุดรธานี คืบหน้าแล้วกว่า 70 % มั่นใจหลังโควิด-19 คลี่คลาย สัญญาณลงทุนเป็นบวกแน่นอน (มีคลิป)

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ตรวจติดตามความคืบหน้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี พร้อมคณะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มั่นใจหลังเปิดประเทศ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สัญญาณลงทุนเป็นบวกแน่นอน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และคณะ เดินทางมาตรวจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีนายจำรัส กังน้อย รองผวจ.อุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐ เอกชน นายกองเอกสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล ผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินงาน ที่พัฒนาไปแล้วกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค-โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้บริการแล้ว

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี 2557 ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้กับคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริบทพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ในการมีช่องทางการประกอบอาชีพในถิ่นเกิด โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด เชื่อหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและเปิดให้มีการเข้า-ออกประเทศได้ตามปกติ จะเป็นสัญญานบวกให้มีนักลงทุนเข้ามาชมพื้นที่และตัดสินใจลงทุน จากความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และปัจจัยบวก จากการขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายที่ครอบคลุมถึงนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และการที่จังหวัดอุดรธานีอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEc) ส่งให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นฮับการขนส่ง-โลจิสติกส์ของภูมิภาค


การพัฒนาโครงการฯล่าสุด มีความคืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเฟสแรก ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค พื้นที่กว่า 1,300 ไร่ เช่น การพัฒนาถนนและองค์ประกอบถนน งานระบบระบายน้ำฝน งานระบบน้ำเสีย งานระบบประปา ของถนนสายต่างๆในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 5.67 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 75% ซึ่งตามแผนการกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 รวมถึงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ค (Logistics Park) พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 1 (2564-2565) ล่าสุดอาคารคลังสินค้าทั้ง 3 หลัง รวมพื้นที่ 23,160 ตารางเมตร พร้อมเปิดบริการให้เช่าแล้ว


นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก และมีความพร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต แต่เพื่อเพิ่มศักยภาพและชักชวนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ทางผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้ขอรับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ด้วยการขอสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ตามประกาศบีโอไอที่ 1/2543 ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 8 ปี และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่ตั้ง (Zone Based) ซึ่งเชื่อว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นแม่เหล็กดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจ NeEC ที่เน้นความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงาน (ในนิคมฯ) ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และ 60,000 คน (นอกนิคมฯ) ขณะเดียวกันก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประมาณ 100 โรง สามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ถ้าจะต้องเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่ ก็ให้นำภาพเหล่านี้ส่งไป อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาและความพร้อมว่า ในอนาคตถ้าจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับระบบขนส่งด้านรถไฟไทย-จีน จะต้องหารือกัน ระดมสมองที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ตนเองทำอะไรได้ก็จะช่วยทำเต็มที่ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้มาช่วยขับเคลื่อนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอีสานตอนบน จะพยายามเต็มที่ แต่ทั้งหมดทั้งปวงเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะทำให้ประเทศไทย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอีสานตอนบนได้รับประโยชน์สูงสุด

 

 




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000