ผักปลอดสารพิษบ้านดงเรือง มุ่งสู่ออร์แกนิคไทยแลนด์ (มีคลิป)
ผักปลอดสารพิษบ้านดงเรือง มุ่งสู่ออร์แกนิคไทยแลนด์
นายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี มอบหมายให้นางสาวอรนุช ดีมั่น เกษตรอำเภอหนองหาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างแรงงานเกษตรทฤษฎีใหม่อำเภอหนองหาน ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจปุ๋ยอินทรีย์บ้านดงเรือง หมู่ 6 ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี หลังรวมกลุ่มปลูกผักปลอดสารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และฮอร์โมนนมสดกับพืชผัก ภายในแปลงปลูกว่า 4 ไร่ ส่งขายทั่วเมืองอุดรธานี หน่วยงานเกษตรเตรียมส่งเสริมต่อยอด เน้นการตลาดนำการผลิต มุ่งสู่ออร์แกนิคไทยแลนด์
นางฉวีวรรณ ทองแสน ประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจปุ๋ยอินทรีย์บ้านดงเรือง เริ่มก่อตั้งกลุ่มในปี 2547 ด้วยจำนวนสมาชิก 80 คน จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจปี 2549 กิจกรรมของกลุ่มประกอบด้วย การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จัดตั้งโรงสีชุมชน การปลูกผัก และเลี้ยงสุกร จนในปี 2560 กลุ่มได้รวบรวมสมาชิกเพื่อปลูกผักเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน
โดยการสนับสนุนระบบน้ำใต้ดินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี ยังเข้ามาส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ พร้อมก่อสร้างโรงเรือนปลูกผัก ปัจจุบันมีสมาชิกปลูกผักจำนวน 43 คน ปลูกคนละ 4 แปลง รวม 173 แปลง ภายใต้แผนการผลิตของกลุ่ม เพื่อไม่ให้ผักขาดตลาด และกระจายรายได้ให้สมาชิก ผักเหลือไม่ทิ้ง นำไปเลี้ยงสุกร หรือหมักมูลโค ทำน้ำหมักรดผัก ผลิตน้ำฮอร์โมนนมสดรดผัก ทำให้ผักกรอบ อร่อย
ส่วนรายได้ของกลุ่มเกิดจากการเก็บเงินจากการขายผักร้อยละ 10 , จัดเก็บค่าน้ำคนละ 10-15 บาท/เดือน , เก็บเงินออมทรัพย์เดือนละ 20 บาท/คน พร้อมเงินหุ้นซึ่งเก็บตั้งแต่จัดตั้งกลุ่ม จำนวน 80,000 บาท
ด้านนางบานเย็น องอาจ ผู้ใหญ่บ้านดงเรือง หนึ่งในสมาชิกและผู้จัดตั้งกลุ่ม กล่าวว่า สมาชิกส่วนมากเป็นเกษตรกร อาชีพหลักคือทำนา ทำไร่ การปลูกผักเป็นอาชีพเสริม แต่ตอนนี้หลายคนเริ่มปลูกผักเป็นอาชีพหลัก เพราะมีรายได้ทุกวัน เน้นปลูกผักเอาใจคนรักสุขภาพ เป็นผักปลอดสารเคมี 100% ผักที่ปลูกมากและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ ผักสลัด 5 สายพันธุ์ ปลูกง่าย ขายง่าย ไร้แมลงรบกวน จำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท ส่งขายตลาดเกษตรกรด้านข้างที่ว่าการอำเภอและโรงพยาบาลหนองหาน , ตลาดจริงใจ , ส่งกรุงเทพฯ , ขายผ่านพ่อค้า-แม่ค้าในพื้นที่ , ขายออนไลน์ และกลุ่มลูกค้าประจำ
นอกจากนี้ยังจำหน่ายผักชนิดอื่นๆ รวมถึงขายเบี้ยผักพร้อมถาด ส่วนผักที่แก่จัดหรือเศษผักก็ขายแบบยกกระสอบ
ขณะที่นางสาวอรนุช ดีมั่น เกษตรอำเภอหนองหาน กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยสำนักงานเกษตรอำเภอหนองหาน ก็พร้อมที่ต่อยอดองค์ความรู้เกษตรแปลงใหญ่ การวางแผนด้านการปลูก ส่งเสริมกลุ่มเยาวชนสู่ทาบาทเกษตรกร และสนับสนุนการขอใบรับรองออร์แกนิคไทยแลนด์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จนเกิดตลาดใหม่ๆ ที่มีความมั่นคง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น