นพค.22 เดินหน้าพัฒนาพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งแบบยั่งยืนให้ชาวอำเภอท่าอุเทน นครพนม
นพค.22 เดินหน้าพัฒนาพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งแบบยั่งยืนให้ชาวอำเภอท่าอุเทน นครพนม
วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม พันเอก สันทัศน์ ชำนาญเวช ผู้บังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นพค.22 สนภ.2 นทพ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่เป้าหมายตามแนวชายแดนในปี 2564 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 มีเป้าหมายอยู่ที่ตำบลพนอมและตำบลพระทาย อำเภอท่าอุเทน ซึ่งการดำเนินงานทางหน่วยต้องการให้เป็นการแก้แก้ปัญหาภัยอุทกภัยและภัยแล้งแบบยั่งยืน เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องผ่านการเห็นชอบของประชาชนในชุมชนที่มีความต้องการจริง ๆ และผ่านการทำการประชาคมหมู่บ้านก่อนจึงจะมีการดำเนินการ โดยการพัฒนาจะมีหลายส่วนด้วยกันประกอบไปด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาเส้นทางคมนาคม และการส่งเสริมการสร้างอาชีพให้ทุกคนอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
โดยงานพัฒนาแหล่งน้ำจะมีการวางผังระบบงาน เป็นทั้งในลักษณะการป้องกันปัญหาอุทกภัยและการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะฉะนั้นจะมีทั้งการขุดลอกลำน้ำและแหล่งน้ำต่างๆในพื้นที่ที่มีความตื้นเขินตามกาลเวลา ให้กลับมาสามารถกักเก็บน้ำได้เช่นดังเดิมอยู่ที่ตำบลพนอม 8 โครงการและตำบลพะทาย 2 โครงการ มีการสร้างฝายกลั้นน้ำเพื่อเป็นการชะลอและกักเก็บน้ำ 4 โครงการ นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างถังเก็บน้ำให้บ้านพะนอม หมู่ที่ 3 เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคด้วยขนาดความจุ 100 ลูกบาตรเมตร มีงานสร้างอาคารบริการน้ำดื่มเย็นสะอาดเพื่อให้เด็กนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยไว้ดื่ม โดยจะมีการสร้างไว้ที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนกระจายอยู่ในพื้นที่รวม 5 แห่ง ซึ่งน้ำดื่มที่ได้จะเป็นการผลิตในระบบ RO จำนวน 4 โครงการ และระบบ Softener จำนวน 1 โครงการ โดยทุกแห่งมีอัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 250 ลิตรต่อชั่วโมง
ส่วนงานก่อสร้างเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ 2 ตำบล จะมีทั้งสิ้น 18 โครงการ รวมระยะทางประมาณ 36.18 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย งานปรับปรุงทางลูกรังเป็นผิวจราจรลาดยาง Cape Seal 1 โครงการ งานปรับปรุงทางผิวจราจร ค.ส.ล. 5 โครงการ และงานซ่อมทางผิวจราจรลูกลัง 12 โครงการ ขณะที่งานส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทางหน่วยก็มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ โดยมีการนำโคแม่พันธุ์มาให้กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงในลักษณะการยืมโคเมื่อมีลูกจะยกลูกให้กับชาวบ้านเพื่อไปขยายพันธุ์ต่อ ซึ่งในระหว่างเลี้ยงจะมีเจ้าหน้าที่มาคอยให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเพราะจะเลี้ยงในลักษณะโรงเรือน ขณะที่การผสมพันธุ์จะมีการหาน้ำเชื้อวัวพันธุ์ดีมาผสมให้
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมกลุ่มจักสานที่ชาวบ้านมีการดำเนินการอยู่แล้ว ให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายเพื่อเข้าสู่ระบบวิสาหกิจชุมชนต่อไป โดยจะมีการเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณและเครื่องจักรในการผลิต ส่วนการส่งเสริมแบบรายครัวเรือนก็จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดการทำการเกษตรแบบผสมผสานในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เบื้องต้นจะมีการค้นหาชาวบ้านที่ยากจนแต่มีศักยภาพในพื้นที่มาสร้างเป็นต้นแบบให้กับคนอื่น ๆ ได้เห็นจำนวน 19 ราย ซึ่งจะมีทั้งการเข้าไปขุดบ่อ ขุดสระน้ำในไร่นาให้ รวมถึงให้หมู ให้ไก่ไว้เลี้ยงรวมถึงนำพันธุ์ไม้นานาชนิดมาสนับสนุนให้ปลูกในพื้นที่ และทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ทุกคนมีการอยู่ดีกินดีมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน
นายสุเทพ จีวรสาน ชาวบ้านตำบลพะนอม กล่าวว่า ก็ขอขอบคุณทาง ผบ.นพค.22 ที่พิจารณานำโครงการดี ๆ มาให้ อย่างตรงลำห้วยบ้านหนองสาหร่ายนี้ในช่วงหน้าแล้งไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะไม่มีน้ำ ตนเองรู้สึกดีใจมาก รอมานานมาแล้วว่าจะได้น้ำมาทำการเกษตรทั้ง 2 ด้านของห้วยในช่วงฤดูแล้ง ถ้ามีน้ำตนเองคิดว่าจะทำอะไรตอนไหนก็ได้ ไม่ใช่ทำเฉพาะนาปรัง แต่สามารถทำอย่างอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น ปลูกแตง ปลูกถั่ว ปลูกพริก ปลูกมะเขือได้หมด สามารถทำเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสบาย
สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม