แม่ทัพภาคที่3 สั่งกอ.รมน.พิจิตรลงพื้นที่ ฟังทางแก้ปัญหาแม่น้ำยมแห้งขอด ทางออกชาวนาเจาะบ่อน้ำบาดาล (ชมคลิป)
พิจิตร-แม่ทัพภาคที่3 สั่งกอ.รมน.พิจิตรลงพื้นที่ ฟังทางแก้ปัญหาแม่น้ำยมแห้งขอด ทางออกชาวนาเจาะบ่อน้ำบาดาล
วันที่ 25 ม.ค. 2564 พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 อำนวยการให้ พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ นิลจันทร์ รอง ผอ.รมน.จว.พิจิตร ลงพื้นที่หลังจากทราบความเดือดร้อนของเกษตรกรลุ่มน้ำยม โดยได้ไปที่แม่น้ำยม บริเวณหมู่ 3 บ้านวังเทโพ ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งที่บริเวณหน้าวัดวังเทโพพบสภาพแม่น้ำยมแห้งขอดเหมือนกับทะเลทราย ซึ่งได้พบกับ นายประชิน ขวัญเมือง อายุ 48ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านวังเทโพ
ซึ่งให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่แม่น้ำยมในปีนี้น้ำแห้งเร็วกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา กล่าวคือ น้ำในแม่น้ำยมแห้งขอดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 63 อีกทั้งแม่น้ำยมก็จะแห้งขอดแบบนี้มาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ทำให้ชาวนาที่เคยพึ่งน้ำจากแม่น้ำยมในการทำนาปรังต่างพลอยเดือดร้อนกันทั่วหน้าทางออกและแนวทางการต่อสู้กับภัยแล้งก็คือ การเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อเอาน้ำใต้ดินมาใช้ เช่นเดียวกับ น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ซึ่งในหมู่บ้านมี 89 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 289 คน ก็ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งสูบน้ำจากน้ำบาดาลมาใช้ จึงไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำกินน้ำใช้แต่อย่างใด
ในส่วนของ พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ นิลจันทร์ รอง ผอ.รมน.จว.พิจิตร กล่าวว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้สืบเนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 3 ทราบและห่วงใยความเดือดร้อนของเกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำยม จึงสั่งการให้ กอ.รมน.พิจิตร ภายใต้การอำนวยการของ นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในฐานะ ผอ.รมน.จว.พิจิตร สั่งการให้ลงพื้นที่สำรวจเพื่อดูความเดือดร้อนที่แท้จริง พร้อมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือในระยะสั้นและวางแผนแก้ไปปัญหาในระยะยาวในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาในภาพรวมของแม่น้ำยม – แม่น้ำน่าน – แม่น้ำพิจิตร – บึงสีไฟ – คลองชลประทาน ว่าจะต้องทำอย่างไรให้แหล่งน้ำดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกันเพื่อผันน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังพบวิกฤตของแม่น้ำยมแห้งขอดก็พบโอกาสของผู้มีอาชีพเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ขณะนี้กลายเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องการเพื่อที่จะนำน้ำใต้ดินสูบขึ้นมาใช้ทำนา ซึ่งพื้นที่ในแถบฝั่งขวาของแม่น้ำยมหรือแถวพื้นที่บ้านวังเทโพแห่งนี้ต้องเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปใต้ดินประมาณ 30 เมตร ก็จะเจอตาน้ำและสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ทำนาได้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสู้ชิวิตของชาวนาลุ่มน้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรดังกล่าว
สิทธิพจน์ พิจิตร