หนุ่มออสเตรเลียเชื่อมั่่นโคก หนอง นา โมเดล ทำให้ครอบครัวพอกิน พอใช้ พออยู่ร่มเย็น จูงแขนภรรยาสมัครเข้าร่วมโครงการ (มีคลิป)
หนุ่มออสเตรเลียเชื่อมั่่นโคก หนอง นา โมเดล ทำให้ครอบครัวพอกิน พอใช้ พออยู่ร่มเย็น จูงแขนภรรยาสมัครเข้าร่วมโครงการ
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.64 ที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล จ.ศรีสะเกษ บ้านเตาเหล็ก หมู่ 1 ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย ปลัด จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 5 ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ จ.ศรีสะเกษ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถูกเลิกจ้างงาน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล มาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และเกิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้กระจายทั่วทั้ง 22 อำเภอของ จ.ศรีสะเกษ
ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 102 คน จาก 3 อำเภอคือ อ.กันทรารมย์ อ.ปรางค์กู่ และ อ.เมืองศรีสะเกษ ใช้เวลาในการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 23 – 27 ม.ค. 64 รวม 4 คืน 5 วัน และได้มีมิสเตอร์เดวิด โฮป อายุ 60 ปี ชาวออสเตรเลีย ซึ่งแต่งงานอยู่กินกับภรรยาชาวไทยชื่อ นางอุทัยวรรณ โฮป อายุ 45 ปี อยู่ที่บ้านเมืองน้อย หมู่ 7 ต.เมืองน้อย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ มาสมัครเข้ารับการอบรมด้วย โดยมี นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนำพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ให้การต้อนรับ
มิสเตอร์เดวิด โฮป อายุ 60 ปี ชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า การที่ตนซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย มาสมัครเข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ เนื่องจากตนมีความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากว่าการฝึกอบรมมีการปฏิบัติจริง โดยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถซึ่งได้นำเอาไปปฏิบัติเห็นผลจริงมาแล้ว ได้นำเอาความรู้มาสอนให้พวกตนได้รับรู้เกี่ยวกับหลักกสิกรรมธรรมชาติ จะทำให้ตนและครอบครัวได้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และหากมีเหลือก็จะแบ่งปันทำบุญทำทาน หรือขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งตนจะได้นำเอาความรู้ที่ได้รับไปร่วมกับภรรยาและญาติพี่น้องของภรรยาไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป
นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นนโยบายของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ได้นำเอาเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด มาขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชน มีภูมิคุ้มกันที่ดีโดยการปรับพื้นที่นาของตนเอง เป็น โคก เป็นหนอง และเป็นนา บนโคกก็ทำการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้ใต้ดิน เพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่องสืบเนื่องกันทั้งปี และที่สำคัญที่กรมการพัฒนาชุมชนก็คือ ให้แปลงที่เราดำเนินการเป็นศูนย์การเรียนรู้ ของคนรุ่นต่อๆ ไป เพราะว่าเรื่องของการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ
พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ถามว่า ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” นี้ต่างจากทฤษฏีผสมผสานอย่างไร ต่างกันอยู่ที่การขุดสระจะไม่มีรูปแบบตายตัว เลียนแบบตามธรรมชาติ ไม่ได้ขุดสระเป็นสี่เหลี่ยม คันนาเดิมที่เป็นคันนาเล็ก ๆ ก็ทำเป็นคันนาทองคำ สำหรับการปลูกไม้ ปลูกผัก ปลูกกล้วยที่จะกินจะใช้ ซึ่งแนวคิดของทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”จะใช้กล้วยเป็นไม้หลัก เราเรียกว่า หลุมพอเพียง แล้วปลูกไม้อีก 4 ทิศเป็นไม้สูง คือไม้ใช้สอย ไม้กลางคือไม้ผล ไม้เตี้ยคือพืชสมุนไพร ไม้ใต้ดินคือพืชผัก ไม้หัวคือพวกสมุนไพรเช่น กระชาย ที่เราใช้อยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการใน 4 คืน 5 วัน เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมแล้ว เมื่อกลับไปเขาจะเป็นครูพาทำ ก็จะต้องไปทำพื้นที่ของตนเองให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ อย่างน้อย 5 ปีที่กรมการพัฒนาชุมชน จะให้บุคคลภายนอกเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนต่างและที่สำคัญก็คือจะทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะของตนเองในเรื่องของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนตลอดไป
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ.ศรีสะเกษ