ม.เกษตรศาสตร์ AIC กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลัง 3 หน่วยงานพันธมิตร ร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ “KU ตลาดอาหาร ปลอดภัย” ให้เป็น Market Place
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ AIC กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลัง 3 หน่วยงานพันธมิตร “กรมประมง- กรมปศุสัตว์-กรมส่งเสริมการเกษตร” ร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนโครงการ “KU ตลาดอาหาร ปลอดภัย” ใน มก.บางเขน ติดแนวถนนวิภาวดีรังสิต ให้เป็น Market Place
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร AIC (Agritech and Innovation Center) เป็นประธาน และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามระหว่างดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะศูนย์ AIC กรุงเทพมหานครที่จัดตั้ง”ตลาด KU อาหารปลอดภัย”ตามยุทธศาสตร์ 3S Safety Security Sustainability นโยบายตลาดนำการผลิต นโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0และนโยบายเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้ความร่วมมือกับกรมประมง กรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะร่วมกันพัฒนาตลาดออฟไลน์และออนไลน์แบบครบวงจรให้กับสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานอื่นๆรวมทั้งความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรในระดับสากล ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลกและอันดับ2ของเอเซีย และความร่วมมือนี้ยังรวมถึงการขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารศูนย์ AIC กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า AIC ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นศูนย์กลางให้บริการ อบรมบ่มเพาะเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญาด้านการเกษตร นวัตกรรมทางการเกษตร ผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุนการแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และเกษตรกร เข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีพื้นที่ขายผลผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้งในระบบ Offline และ Online รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของประเทศในระดับนานาชาติ
“ ผมมีความตั้งใจ ที่จะผลักดันทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ ให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตเกษตรกรมีคุณภาพ ทรัพยากรการเกษตรมีความสมดุลและยั่งยืน ดังนั้น ศูนย์ AIC กรุงเทพมหานคร จึงทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาการผลิต และการแปรรูป ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการรับรองจากมาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานอินทรีย์และมาตรฐานฮาลาล ควบคู่ไปกับส่งเสริมการตลาดให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและต่างประเทศ ” ดร.จงรัก กล่าว
ส่วนนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กรมประมงจะเน้นเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าประมงให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยทั้งสินค้าที่มาจากการเพาะเลี้ยงและจากการจับสัตว์น้ำ ร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และเพื่อให้เกษตรกรมีตลาดที่รองรับสินค้าประมงอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย และพัฒนาเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ทั้งในด้านวิชาการ ด้านการผลิต และด้านการตลาด
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรรู้สึกยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าถึงความร่วมมือครั้งนี้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาการผลิตและจัดการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่ เพื่อเพิ่มปริมาณ ประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงการตลาดให้กับสินค้าการเกษตร
ทั้งนี้ 4 หน่วยงาน มีความพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรด้วยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรประเทศไทย โดยมีแผนพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริเวณแนวถนนวิภาวดีรังสิต ให้เป็น Market Place พื้นที่รองรับผลผลิต และสินค้าจากนวัตกรรม เทคโนโลยีด้านอาหารและการเกษตร ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2564 บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS ถนนพหลโยธิน เพื่อให้เกษตรกรได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีช่องทางกระจายสินค้าและบริการ ยกระดับเกษตรกรให้มีมาตรฐานในการผลิตอาหารปลอดภัย ควบคู่ไปกับส่งเสริมการตลาดให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค