นครพนม ดันราคาจิ้งหรีดสูงขึ้น หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค - ไทยเสรีนิวส์
นครพนม ดันราคาจิ้งหรีดสูงขึ้น หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

นครพนม ดันราคาจิ้งหรีดสูงขึ้น หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

 

วันที่ 11 มกราคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตแบบไม่ต้องผ่านการเป็นหนอนหรือดักแด้ ตัวอ่อนที่เกิดมาจะเหมือนตัวเต็มวัยเลยเพียงแต่ยังไม่มีปีก โดยทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 900 ชนิด ซึ่งการผสมพันธุ์และวางไข่ในแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 15 วันต่อครั้ง และประชาชนส่วนใหญ่นิยมนำจิ้งหรีดมาทำอาหารบริโภคเพราะมีโปรตีนสูง รองลงมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และเกษตรกรจังหวัดนครพนมก็มีการเลี้ยงเพื่อรับประทานและจำหน่าย

โดยกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ(จิ้งหรีด) อำเภอเรณูนคร ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลโพนทอง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุน ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกษตรกรรายย่อย มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยเน้นในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตร การเชื่อมโยงด้านการตลาด และการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับตัวเกษตรกร

ซึ่งก็มีการดำเนินการพัฒนามาเรื่อย ๆ ทั้งการเลี้ยง การทำโรงเรือน การผลิตอาหารจิ้งหรีดเพื่อลดต้นทุนการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทำให้ราคาจิ้งหรีดสูงขึ้น สามารถส่งออกตลาดต่างประเทศได้ จึงได้มีการสร้างมาตรฐานฟาร์ม

โดยมีปศุสัตว์จังหวัดนครพนมจะเข้ามาถ่ายทอดความรู้ แนะนำแนวทาง และเมื่อมั่นใจว่าได้มาตรฐานแล้วจึงได้ดำเนินการขอมาตรฐาน ฟาร์มหรือมาตรฐาน GAP


นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า มาตรฐานฟาร์มหรือมาตรฐาน GAP นี้ เป็นการรับรองว่าทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตมีความปลอดภัย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทหรือผู้รับซื้อสินค้าจากเกษตรกรไปจำหน่าย ว่าได้รับสินค้าที่ปลอดภัย มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง ซึ่งในการเข้ามาตรวจนั้นเราดูตั้งแต่เรื่องของ มาตรฐานคนเลี้ยง มาตรฐานของสถานที่ โดยอิงทุกอย่างที่เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานฟาร์มเช่นเดียวกับฟาร์มโคเนื้อ สุกร และสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ

เบื้องต้นมีเกษตรกรที่เลี้ยงในกลุ่มประมาณ 50 ฟาร์ม แต่ที่ผ่านมีเพียงแค่ 8 ฟาร์มเท่านั้น เนื่องจากในรายอื่น ๆ ยังขาดคุณสมบัติบางประการ ซึ่งเราก็จะพยายามพัฒนาปรับปรุงให้ โดยมีการแนะนำให้เกษตรกรได้จัดทำมาตรฐานฟาร์มให้ตรงกับหลักเกณฑ์เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ถ้าไม่ได้จริงๆ เราจะไม่ให้ผ่าน และในวันนี้ก็ได้นำใบรับรองมาตรฐาน GAP มามอบให้ทั้ง 8 ฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันการค้าสำหรับเกษตรกร

ด้านนางศิริวรรณ วังกะธาตุ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เปิดเผยว่า การบริหารจัดการของกลุ่มหลังจากที่ได้ GAP ตรงนี้ไปแล้ว เราจะเน้นที่การแปรรูปเพื่อส่งออกต่างประเทศ เพราะปัจจุบันเราก็มีการยื่นขอมาตรฐาน GMP อยู่เช่นเดียวกันรอแค่เลขทะเบียนมา ซึ่งการแปรรูปที่กลุ่มมีกิจกรรมอยู่ในขณะนี้ ประกอบไปด้วย จิ้งหรีดบดผงที่สกัดไขมันแล้ว จิ้งหรีดอบแห้ง ผลิตภัณฑ์น้ำพริกจิ้งหรีด และข้าวเกรียบจิ้งหรีดซึ่งตัวนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจ เราจึงได้มีการส่งตัวอย่างไปให้ลูกค้าทดลอง ถ้าผ่านก็จะมีการสั่งออเดอร์เข้ามา ซึ่งที่พูดคุยตกลงไว้ออเดอร์แรกจะประมาณ 10,000 ถุง ต่อรอบ นอกจากนี้ก็เตรียมส่งผลิตภัณฑ์ไปทดลองตลาดที่แอฟริกาใต้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

สุเทพ หันจรัส นครพนม




สำนักงานใหญ่ เลขที่ 76 หมู่ 20 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000