เกษตรฯ ห่วงชาวสวนมะพร้าวรับศึกไรสี่ขาซุ่มระบาดช่วงแล้ง
กรมวิชาการเกษตร เตือนภัยไรสี่ขารุกระบาดช่วงแล้ง หลังพบเข้าทำลายสวนมะพร้าวน้ำหอม จ.ฉะเชิงเทรา ผลมีปลายแผลแหลมลึกสีน้ำตาลเกือบรอบผล ชี้ความเสียหายหนักสุดทำผลเล็กลีบและร่วงหล่นขายไม่ได้ สวนที่ระบาดรุนแรงแนะตัดช่อดอกและช่อผล เก็บผลและเศษซากจากการปอกมะพร้าวไปทำลายตัดวงจรไรไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำ
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนักวิจัยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจสวนมะพร้าวน้ำหอมของเกษตรกรที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พบผลมะพร้าวภายในสวนจำนวนมากถูกทำลายเป็นแผลร่องลึก แตกเป็นริ้วเหมือนลายไม้สีน้ำตาล ปลายแผลแหลม และเป็นแผลโดยรอบหรือเกือบรอบผล ซึ่งจากการตรวจสอบลักษณะของผลมะพร้าวที่ถูกทำลายดังกล่าวพบว่าเกิดจากการทำลายของไรสี่ขามะพร้าว ซึ่งนับเป็นศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตมะพร้าวในหลายประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย เม็กซิโก คอสตาริกา ศรีลังกา จาไมก้า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ไรสี่ขามะพร้าวเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมาก รูปร่างลักษณะคล้ายหนอนสีขาวใส ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูงเท่านั้น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเป็นศัตรูพืช เพศเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 30-50 ฟอง จากระยะไข่ – ตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 วัน ทั้งนี้ไรสี่ขามะพร้าวจะเริ่มเข้าทำลายผลมะพร้าวตั้งแต่ผลมีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตรจนถึง 25 เซนติเมตร โดยไรจะอาศัยดูดกินอยู่ใต้กลีบเลี้ยงของผลมะพร้าว ผลมะพร้าวที่ถูกไรสี่ขาทำลายจะชะงักการเจริญเติบโต หลุดร่วงและผลผลิตเสียหายได้ถึง 70% จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเฝ้าระวังเนื่องจากสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทั้งคุณภาพและผลผลิตมะพร้าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไรสี่ขามะพร้าวเป็นศัตรูพืชที่เข้าทำลายอยู่ภายในขั้วผลมะพร้าว ทำให้การพ่นสารฆ่าไรไม่สามารถโดนตัวไรได้โดยตรง ดังนั้นการป้องกันกำจัดให้เน้นพ่นสารกำจัดไรในช่วงระยะมะพร้าวติดจั่นจนถึงระยะผลขนาดเล็ก ห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่ไรสี่ขาเริ่มเข้าทำลาย โดยสารฆ่าไรสี่ขามะพร้าวตามคำแนะนำ ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ โพรพาร์ไกต์ 30% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อะมิทราซ 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กำมะถันผง* 80% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 6 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เฮกซีไทอะซอกส์ 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไซฟลูมีโทเฟน 20% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และทีบูเฟนไพแรด 36% EC อัตรา 3 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้สลับกลุ่มสารฆ่าไรตามลักษณะกลไกลการออกฤทธิ์ และห้ามผสมกับสารชนิดอื่น
“ขณะนี้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้ลงพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายและจัดอบรมสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจังหวัดฉะเชิงเทราได้ตื่นตัวและเฝ้าระวังโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง พร้อมกับให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดไรสี่ขาตามหลักวิชาการ หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ : 0-2579-5583 หรือ 0-2579-1061-117” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
พนารัตน์ เสรทวีกุล : ข่าว
กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมวิชาการเกษตร