(สกู๊ปรายงานพิเศษ) เมื่อ บีอาร์เอ็น และ เอ็นจีโอ คืออุปสรรคขัดขวางการพัฒนา ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉยและไม่เข้าใจ”ไฟใต้”ก็ไม่มีทางมอดดับ
(สกู๊ปรายงานพิเศษ) เมื่อ บีอาร์เอ็น และ เอ็นจีโอ คืออุปสรรคขัดขวางการพัฒนา ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉยและไม่เข้าใจ”ไฟใต้”ก็ไม่มีทางมอดดับ
“การร่วมชุมนุมที่ กทม.ให้สอดแทรกปัญหาในพื้นที่ อ.จะนะ,เทพาร่วมด้วย” นั่นคือหนึ่งใน 10 กว่าข้อ ที่ แกนนำ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น ได้มีการสั่งการมายัง แกนนำ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ได้มี นัยยะ แอบแฝง แต่เป็นการ สั่งการแบบตรงๆ ว่า บีอาร์เอ็น จะให้ แนวร่วม ในพื้นที่ ซึ่งเป็น”ปีกการเมือง” ต่อต้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะปัญหาที่ จะนะ,เทพา ที่ บีอาร์เอ็น กล่าวถึง ย่อมหมายถึง โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่จะมีการก่อสร้าง ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะ ผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” เป็นผู้รับผิดชอบ โดยการร่วมบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นโครงการที่ เอ็นจีโอ ได้นำชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่”เห็นต่าง”ประมาณ 50 คน ไปปักหลักคัดค้านยื่นหนังสือให้รัฐบาล ยุติโครงการ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการสั่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบและทำความเข้าใจกับประชาชน ที่เป็นเหมือนกับการชะลอโครงการ สร้างความล่าช้าให้เกิดขึ้น
ที่นำเรื่องนี้มาเขียนถึง เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และอาจจะยากกว่าการแก้ปัญหาความมั่นคง หรือการ”จัดการ” กับ แนวร่วม ติดอาวุธ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น
เพราะต้องการให้รัฐบาล และ ศอ.บต. ต้อง ฝ่าด่านของ เอ็นจีโอ และกลุ่มผู้”เห็นต่าง” จำนวนเล็กน้อย ที่ออกมาคัดค้านโดยใช้เพียง”วาทกรรม” แล้วรัฐบาล และ ศอ.บต. ยังต้องต่อสู้กับบีอาร์เอ็น ยังแสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะ เข้าร่วมกับ เอ็นจีโอ และ กลุ่มชาวบ้านที่”เห็นต่าง” เพื่อ ขัดขวางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่
เพราะบีอาร์เอ็นรู้ว่าหากปล่อยให้รัฐบาล โดย ศอ.บต. ดำเนินการโครงการใหญ่ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน คนว่างงาน ได้สำเร็จ การปลุกระดม มวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นปรปักษ์ กับรัฐไทย จะอ่อนแอลงและจะเสียมวลชนไปในที่สุด การที่ บีอาร์เอ็น จะ ปลุกระดม คนในพื้นที่ให้ อยู่ภายใต้การชี้นำของบีอาร์เอ็น ที่ได้ผลที่สุด คือทำให้เห็นว่ารัฐไทยไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ความยากจน แก้ปัญหาคนว่างงาน ไม่ได้ และการที่จะดึง เยาวชน ให้เห็นดี เห็นงาม กับขบวนการ คือทำให้เห็นว่า คนที่เรียนจบออกมาไม่มีงานทำและรัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะช่วยให้คนเหล่านี้มีงานทำ มีอนาคตที่ดี ต้องกลายเป็นคนตกงาน สุดท้ายเยาวชนเหล่านี้ก็จะกลายเป็น”เหยื่อ” ของขบวนการ
แผนในการ สร้าง เยาวชนปฏิวัติที่บีอาร์เอ็นตั้งเป้าไว้อีก 10 ปี ข้างหน้า ก็จะประสพความสำเร็จตามที่ต้องการ ดังนั้นการต่อต้าน โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ของ บีอาร์เอ็น ที่สั่งการให้แกนนำ “ปีกการเมือง” นำไปสอดแทรกกับม็อบราษฎรปลอดแอก ที่เคลื่อนไหวที่ กรุงเทพฯ ก็เพื่อที่จะดึงเยาวชน มวลชน ในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขับไล่ พล.อ.ประยุทธ ให้เป็น มวลชน กลุ่มใหญ่ เพื่อร่วมกันต่อต้านการขับเคลื่อน “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ และ โครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของ กฟผ. ที่ อ.เทพา ซึ่งถูกสั่งให้มีการศึกษาใหม่ จากการต่อต้านของ เอ็นจีโอ เช่นกัน
ถ้ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความเข้าใจ “ยุทธศาสตร์” ของ เอ็นจีโอ และไม่เข้าใจ”ยุทธศาสตร์” ของ บีอาร์เอ็น และไม่เข้าใจใน”ยุทธวิธี”ของ บีอาร์เอ็น ในการแบ่งแยกดินแดนโดยการขัดขวางการพัฒนาในโครงการใหญ่ เพื่อชี้ให้คนในพื้นที่เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐบาลและของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลก็จะล้มเหลว
เป็นการล้มเหลวทั้งในด้านความมั่นคง และความล้มเหลวในด้านการพัฒนา เพราะถ้างานด้านการพัฒนาไม่เกิดขึ้น จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีโครงการใหญ่ๆเกิดขึ้นการพัฒนาพื้นฐานทางการเกษตร การท่องเที่ยว และการค้าขายเพียง 3 อย่าง อย่างดีก็เป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนหนึ่งดีขึ้น
แต่คนส่วนใหญ่ที่ว่างงานต้องไปขายแรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นหมื่นเป็นแสนคนที่ค่อยๆ ตกงานจากสถานการณ์”โควิด19” และถึงแม้จะหมดเรื่อง”โควิด 19” แต่สถานการณ์เรื่องการจ้างแรงงานในประเทศมาเลเซียที่ไม่เหมือนเดิมก็จะทำให้จำนวนตัวเลขคนว่างงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “สะสม” มากขึ้น
และนอกจากคนว่างงานเพราะการเปลี่ยนแปลงของประเทศมาเลเซียแล้วปัญหาของ เยาวชน ที่จบจากสถาบันการศึกษาปีละ 25,000 คน จะไปทางไหนแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งที่เรียนเก่งที่มีฐานะทางบ้านอาจจะได้ไปทำงานในกรุงเทพในต่างจังหวัด แต่อีกส่วนหนึ่ง ที่เรียนไม่เก่ง ที่ไม่มีสถานะทางบ้านไม่มีพรรคพวก ไม่มีเส้นสายจะไปไหนนอกจากอยู่ที่บ้านและตกงานต้องทำสวน ทำไร่ และสุดท้าย อาจจะกลายเป็น”เหยื่อ” ของขบวนการ
เยาวชน เหล่านี้แหละที่จะหมดศรัทธาจากรัฐ จากหน่วยงานของรัฐ และจะค่อยๆ เห็นด้วยการกล่าวหา การปลุกระดม ของ บีอาร์เอ็น เพื่อให้เห็นว่ารัฐไทยไม่มีความจริงใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเห็นว่าพวกเขาเป็น”มาลายู” เป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศ สุดท้ายบีอาร์เอ็นอาจจะได้ เยาวชน ที่มีความรู้ไปเป็นพวก และกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐไทย กลายเป็นปัญหาของความมั่นคง ที่จะต้องยืดเยื้ ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด และต้องใช้งบประมาณอีกหลายแสนล้านในการแก้ปัญหาความมั่นคงต่อไป
แน่นอนว่าการที่ บีอาร์เอ็น สั่งการให้ “แนวร่วม” ปีกทางการเมือง ร่วมมือกับ เอ็นจีโอ และกับ ม็อบขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยการนำเรื่องการต่อต้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปสอดแทรก ส่วนหนึ่งเป้าหมายอยู่ที่ ศอ.บต. ด้วย เพราะ บีอาร์เอ็น ไม่ต้องการให้ ศอ.บต. ทำงานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ ดังนั้นวันนี้ สังคมจึงเห็นปฏิกิริยาของฝ่ายต่อต้าน “โครงการเมืองต้นแบบที่ 4” ว่า ไม่ต้องการให้ ศอ.บต. เข้าไป ขับเคลื่อนโครงการนี้ เพราะ บีอาร์เอ็น ต้องการที่ขัดขวางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนงานที่ ศอ.บต. ได้กำหนดไว้ทั้งหมด ดังนั้นถ้ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังทำตัวแบบ “ถีบๆถอยๆ” ไม่เอาจริง ไม่กล้าตัดสินใจให้เด็ดขาดเพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง การที่จะแก้ปัญหาทั้งมิติความมั่นคง และมิติการพัฒนาก็จะล้มเหลวทั้งสองด้าน
อย่าลืมว่า 5 ปีในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช. รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี 3 ปีเป็นผู้บริหารประเทศได้สร้างความเสียใจให้กับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะในขณะที่ 3 ปี มีอำนาจ”เบ็ดเสร็จ” ก็ไม่สามารถที่จะให้อำนาจที่มีอยู่ในการ”ดับไฟใต้”ได้
แล้ววันนี้ วันที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาเรื่องคนว่างงาน คนตกงาน เศรษฐกิจย่ำแย่ ทั้งจากเรื่องของ”โควิด 19” ที่ประเทศมาเลเซียปิดประเทศ และจากราคาพืชผลทางการเศรษฐกิจที่ตกต่ำโอกาสที่ รัฐบาลจะแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้คือ การสร้างโครงการใหญ่อย่าง”เมืองต้นแบบที่ 4” แต่รัฐบาลกำลังปล่อยโอกาสให้หลุดมืออีกครั้งอย่างนั้นหรือ
ถ้าโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ถูกพับใส่กระเป๋า เช่นเดียวกับแผนพัฒนาอื่นๆของภาคใต้ก็เท่ากับว่าไม่เฉพาะแต่ เอ็นจีโอ ที่ประสพความสำเร็จ ที่สามารถกำหนดชะตากรรมของประเทศได้ แต่ บีอาร์เอ็น ก็จะประสพความสำเร็จที่สามารถกำหนดชะตากรรมของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งให้เดินเข้าสู่แผนการที่ บีอาร์เอ็น ได้กำหนดไว้แล้วนั้นเอง
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา