ฉายา “คนกีฬา” ประจำปี 2563 เพื่อยกย่อง และหยิกแกมหยอก แบบแสบ ๆ คัน ๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ตั้งฉายา “คนกีฬา” ประจำปี 2563 เพื่อยกย่อง และหยิกแกมหยอก แบบแสบ ๆ คัน ๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา โดย พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ ได้รับฉายา “คุณทวดตะกร้อไทย” นายกสมาคมกีฬาที่อายุมากที่สุด ด้วยวัย 88 ปี ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้ฉายา “มาด้วยใจ ไปทุกงาน” ส่วน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ได้ฉายา “ผู้ว่าฯ บริษัท (ไม่จำกัด)” เพราะมีที่ปรึกษาในการทำงานมากมาย ฝ่าย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้ฉายา “ตำแหน่งใหญ่ ไม่ขาดมือ” เหตุได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานสำคัญตลอด ขณะที่ พลเอกเดชา เหมกระศรี ได้รับฉายา “หมึกไฟแรง (ปั่น) แซงทุกสนาม” จากผลงานที่โดดเด่นในการบริหารงาน ฝั่ง นวลพรรณ ล่ำซำ ได้รับฉายา “มาดามแป้ง แรงกว่าไฟฟ้า” จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่สนามการท่าเรือ 2 นัดติด ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ฉายา “นายก VAR” ที่มีปัญหาร้อนแรงอยู่ช่วงหนึ่ง
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ตั้งฉายาให้กับบุคคลในวงการกีฬาเป็นธรรมเนียมประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยคัดเลือกจากบุคคลกีฬาที่มีข่าวฮือฮา หรือมีความโดดเด่นในสายตาของสื่อมวลชนสายกีฬาในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อยกย่อง และหยิกแกมหยอก แบบแสบ ๆ คัน ๆ สำหรับฉายาคนกีฬา ประจำปี 2563 มี 12 ฉายาดังนี้
1. พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ นายกสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ได้รับฉายา “คุณทวดตะกร้อไทย” ด้วยวัย 88 ปี บริบูรณ์ และนั่งเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาตะกร้อฯ เป็นสมัยที่ 17 นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2526 รวมระยะเวลาถึงปัจุบันยาวนานถึง 37 ปี โดยไม่มีคู่แข่งมาต่อกร นับว่าเป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ที่อายุมากที่สุดในเวลานี้
2. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับฉายา “มาด้วยใจ ไปทุกงาน” นับตั้งแต่ นายพิพัฒน์ เข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในภาระหน้าที่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะงานด้านกีฬา ท่านรัฐมนตรีจะไปร่วมงาน ร่วมกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ เกือบทุกงานที่ได้รับเชิญ รวมทั้งการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการต่าง ๆ หากไม่ติดภาระกิจที่สำคัญจริง ๆ ท่านรัฐมนตรีจะต้องเดินทางไปร่วมงานด้วยตัวเองทุกครั้ง และสิ่งสำคัญท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ มีข้อมูลที่แน่นมาก เรียกว่ารู้ลึก รู้จริง งานด้านกีฬาอย่างถ่องแท้
3. ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับฉายา “ผู้ว่าฯ บริษัท (ไม่จำกัด)” เนื่องจากรับตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กกท. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 คนในวงการกีฬาต่างจับตามองการทำงานของ ดร.ก้องศักด อย่างใกล้ชิด ซึ่งภาพที่ปรากฏออกมา ผู้นำค่ายหัวมากคนนี้มีที่ปรึกษา หรือกันเรียกว่า “กุนซือ” จำนวนมาก และมาจากหลากหลายวงการ เรียกว่ามีคนที่อยู่เบื้องหลังในการทำงานเยอะมากจนนับแทบไม่หมด
4. คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) ได้รับฉายา “ตำแหน่งใหญ่ ไม่ขาดมือ” หลังจากรับตำแหน่ง ไอโอซีเมมเบอร์ มาตั้งแต่ปี 2560 จากนั้น คุณหญิงปัทมา ได้รับตำแหน่งใหญ่ ๆ ต่อเนื่องไม่ขาดมือ ในปี 2563 ก็ยังได้รับความไว้วางใจจาก โธมัส บาค ประธานไอโอซี ให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการ วัฒนธรรม และมรดกโอลิมปิก และเป็นคณะกรรมาธิการ กองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ดูแลเงินปีละหลายหมื่นล้านบาท เพื่อช่วยประเทศสมาชิกด้านกีฬา เพิ่มเติมอีก โดยตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ ถือว่าได้รับความไว้วางใจอย่างรวดเร็วมากที่สุด เพราะปกติคนที่ทำหน้าที่นี้ ต้องคลุกคลีเป็นไอโอซี มาไม่น้อยกว่า 10 ปี เรียกได้ว่า คุณหญิงปัทมา ไอโอซีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทย ยังยืนหนึ่ง ตำแหน่งใหญ่ ไม่มีขาดมือจริง ๆ
5. “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้รับฉายา “หมึกไฟแรง (ปั่น) แซงทุกสนาม” จากบทบาทการบริหารงานที่รวดเร็ว ฉับไว มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด สมาคมกีฬาจักรยานฯ เป็นเพียงสมาคมเดียวที่มีกิจกรรม “ปั่นในบ้านต้านโควิด” และเป็นสมาคมแรกที่จัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยได้สำเร็จ รวมไปถึงการแข่งขันระดับนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2020” ได้เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในทวีปเอเชีย จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “สมาคมกีฬาต้นแบบ” นับว่าเป็นนายกสมาคมกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นและร้อนแรงมาก
6. “มาดามแป้ง” นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ได้รับฉายา “มาดามแป้ง แรงกว่าไฟฟ้า” เมื่อเอ่ยถึง “มาดามแป้ง” ใครก็ต้องรู้จักผู้หญิงคนนี้เป็นอย่างดีว่า เป็นผู้หญิงแกร่งไฟแรง แม้ว่าเจออุปสรรคมากมายแต่ก็ผ่านพ้นด้วยดี แต่คงไม่มีเหตุการณ์ใหนที่สร้างความกดดัน และหนักใจเท่ากับ “ไฟฟ้าส่องสว่าง” ของสนาม แพท สเตเดี้ยม รังเหย้าของการท่าเรือ เอฟซี มีอันต้อง “ดับ” ถึง 2 นัดติดต่อกัน นัดแรก 13 กันยายน 2563 การท่าเรือ เอฟซี รับมือ โปลิศ เทโร เอฟซี เกมเสมอกัน 1-1 แต่ว่านาทีที่ 88 ไฟส่องสว่างภายในสนาม แพทฯ เกิดดับลง และการแข่งขันไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ภายใน 60 นาที คณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่มี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน เป็นประธาน พิจารณาว่าความผิดเป็นของเจ้าบ้าน ทำให้การท่าเรือ เอฟซี โดนปรับแพ้ 0-2 ประตู
นัดที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ทีม “สิงห์เจ้าท่า” การท่าเรือ เอฟซี เปิดบ้านทีม “กิเลนผยอง” เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด คู่นี้ยังไม่ได้เริ่มเตะ เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าที่สนามแพทฯ เกิดระเบิดขึ้นจนทำให้ไฟฟ้าภายในสนามดับ และไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลา 1 ชั่วโมง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บอกว่าเป็นความบกพร่องของสนามเองไม่เกี่ยวกับ กฟน. แต่รอบนี้ “มาดามแป้ง” ไม่ยอมแพ้ 0-2 อีกแล้ว จึงหาหลักฐานทุกอย่างที่มีออกมาสู้กับคณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท จนเป็นฝ่ายชนะ ทำให้ “สิงห์เจ้าท่า” ไม่โดนปรับแพ้ คู่นี้ได้เตะกันใหม่ นับว่า “มาดามแป้ง” แรงกว่าการไฟฟ้าจริง ๆ
7. “อุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน นักเตะสโมสรโยโกฮามา เอฟ มารินอส ในเจลีก ญี่ปุ่น ได้รับฉายา “อุ้มบุญ (มาทัน) ปังเอเชีย” บรรดานักเตะไทยระดับซูเปอร์สตาร์ปีนี้คงไม่มีใครฮอตไปกว่า ธีราทร อีกแล้ว ขณะที่นักเตะคนอื่น ๆ ที่ไปค้าแข้งในญี่ปุ่น อย่าง ธีรศิลป์ แดงดา, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ฟอร์มการเล่นหลุดบ้าง มีอาการบาดเจ็บบ้าง แต่ “อุ้ม” กลับประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ว่าในศึกเจลีก จะไม่สามารถพาทีมโยโกฮามา เอฟ มารินอส ป้องกันแชมป์ได้ แต่ในเอเอฟซี แชมเปี้ยนลีก “อุ้ม” กลับโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยิงทั้งจ่าย จนกระทั่ง สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFFHS) เลือกให้ติด 1 ใน 11 นักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของเอเชีย ร่วมกับ ซอง เฮือง มิน แข้งเกาหลีใต้ ของทอตแนม ฮอต สเปอร์ส และ ทาคุมิ มินามิโนะ นักเตะญี่ปุ่นของ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีทองของ “อุ้ม” ธีราทร ที่สร้างชื่อให้ประเทศไทยไประดับเอเชีย
8. “บิ๊กเอ๋” นายกิตตน์สมบัติ เอื้อมมงคล อดีตนายกสมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้รับฉายา “นายกหวาดระแวง” หลังจาก “บิ๊กเอ๋” ชนะการเลือกตั้งนายกสมาคม เมื่อเดือนมกราคม 2559 ด้วยการโค่น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตนายกสมาคม 7 สมัย หลังจากนั้นก็เกิดเรื่องวุ่น ๆ เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งจนถึงขั้นพึ่งอำนาจศาล และลอนเทนนิสสมาคมฯ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่ง “บิ๊กเอ๋” ก็ยังได้รับเลือกอีกครั้ง
ขณะที่ทุกอย่างดูจะไปได้ดีและราบรื่น แต่ในการเลือกตั้งนายกสมาคม ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 กลับมีการเปลี่ยนตัวนายกอีกครั้ง คราวนี้ได้ นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นักธุรกิจที่มีบทบาทอยู่ในวงการหมัดมวยมานั่งเก้าอี้แทน ส่วน “บิ๊กเอ๋” ขยับไปนั่งเป็นอุปนายกสมาคม นอกจากนี้ นายกคนใหม่ยังไปเยี่ยมคารวะพร้อมส่งเทียบเชิญ นายสุวัจน์ ให้กลับมาช่วยพัฒนาวงการในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ เป็นการลดแรงเสียดทานจากรอบด้าน ให้สามารถดำเนินงานไปต่อได้อย่างราบรื่น
9. “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับฉายา “นายก VAR” ประเด็นร้อนของวงการฟุตบอล ช่วงปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการชนกันของ 2 ช้างสาร อย่าง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี กับ “บิ๊กอ๊อด” ประมุขลูกหนัง กรณีที่สมาคมฟุตบอลฯ จะไม่ใช้ VAR เพราะไม่มีงบประมาณ จน “มาดามแป้ง” ออกโรง ยื่นหนังสือให้นำเงินสนับสนุนจาก บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาใช้เพื่อ VAR ตกเป็นวิวาทะกันอยู่นาน สุดท้ายสมาคมฯ ก็นำ VAR มาใช้ แต่นั่นก็ยังไม่หมดปัญหา เมื่อ VAR ดันติด ๆ ดับ ๆ ในการแข่งขันหลายต่อหลายนัด เรื่องราวดราม่าของฟุตบอลไทยปีนี้ VAR จึงมาแย่งซีนโควิด-19 เป็นพัก ๆ
10. “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ได้รับฉายา “โก้เสี่ยงตาย” อดีตกุนซือทีมชาติไทยสร้างความฮือฮาและตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อตกลงใจรับงานโค้ชให้กับสโมสรฮอง อันห์ ยาลาย ทีมเก่าที่เคยไปคัาแข้งอยู่นับ 10 ปี ที่ประเทศเวียดนาม การตัดสินใจครั้งนี้ของ “ซิโก้” เต็มไปด้วยคำถามว่า เพราะอะไรเขาจึงเลือกฮอง อันห์ ยาลาย และเลือกไปทำงานในต่างประเทศในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด-19 การเดินทางไปครั้งนี้ต้องเสี่ยงชีวิตไม่น้อย และโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านแทบจะไม่มีในช่วงเวลา 1 ปี ทั้งที่เขามีทางเลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นโค้ชสโมสรในไทย หรือ ธุรกิจกีฬา และพรีเซ็นเตอร์มากมาย แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่า ต้องการกลับมาใช้ความรู้ทำงานโค้ชและตอบแทนบุญคุณ ด่วน เหงียน ดึ๊ก เจ้านายเก่า ชีวิตกุนซืนคนอื่น ๆ อาจจะแค่เสี่ยงตกเก้าอี้ แต่การตัดสินใจของ “ซิโก้” หนนี้ไม่ต่างจากการเสี่ยงตาย หาความท้าทาย ด้วยการออกตีลังกาพเนจรอีกครั้ง
11. “เจ้าสด” ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ได้รับฉายา “รถขบวนสุดท้าย” หนึ่งในนักชกความหวังทีมชาติไทย ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2021 ส่งผลกระทบกับ “เจ้าสด” อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องอายุที่มากขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก รวมไปถึงทัวร์นาเม้นท์แข่งขันในต่างประเทศก็ต้องโดนยกเลิกไปด้วย
การที่นักชกไม่มีทัวร์นาเม้นท์ให้ประลองก่อนเกมการแข่งขันจริง นั่นหมายถึงการเรื้อเวทีทำให้แผนการชกจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เพราะการฝึกซ้อมต่อให้หนักแค่ไหน แต่ก็ไม่เหมือนการลงสนามแข่งขันจริง นอกจากนี้ “เจ้าสด” ยังมีเรื่องของอายุเข้ามาเป็นอุปสรรคเลยทำให้ทุกอย่างหนักกว่าคนอื่น ๆ ดังนั้น “โตเกียวเกมส์ 2020” จึงเป็นเกมเดิมพันที่สูงมาก สำหรับโอลิมปิกเกมส์หนนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายของ “เจ้าสด” จึงไม่แตกต่างอะไรจาก “รถขบวนสุดท้าย”
12. นายปริวัฒน์ วรรณกลาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้รับฉายา “อธิการบดี กากี่นั้ง” สืบเนื่องจากศึกชิงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่เร่าร้อน รุนแรง จนปั่นป่วนไปทั้งสถาบัน ถึงกับต้องเดินเกมให้รองอธิการบดีที่สนับสนุน นายปริวัฒน์ วรรณกลาง ออกมาแสดงบทบาทท่าที และเรียกร้องว่ายังเลือกยืนข้าง “นายเก่า” สุดท้ายก็ยังคาราคาซัง นายปริวัฒน์ ยังคงรักษาการตำแหน่งนายใหญ่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติต่อไป เรียกว่าช่วยกันไปในแบบ “กากี่นั้ง” หรือพวกเดียวกันนั่นเอง